รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
คำว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” เป็นภาพสะท้อนการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ได้เป็นอย่างดีในทุกยุคทุกสมัย เพราะมนุษย์ไม่สามารถที่จะอยู่ตามลำพังได้ แต่ด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้รูปแบบการดําเนินชีวิต (Lifestyle or Style of Life) หรือวิถีการดําเนินชีวิตของผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่สามารถพูดคุย ใกล้ชิด หรือสัมผัสกันได้ จึงเกิดเป็นชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่ทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนไปพร้อม ๆ กัน ในช่วงแรกหลายคนก็เกิดความกังวลใจว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนได้หรือไม่ จะทำได้อย่างไร จะรักษาระยะห่างทางกายได้อย่างไรโดยที่ไม่เกิดระยะห่างทางใจ หรือก่อให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
แต่เมื่อต้องปรับจริง ๆ แล้วจากชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ก็กลายมาเป็นความปกติใหม่ จนในที่สุดคนก็เกิดความคุ้นชิน กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ การเว้นระยะในการนั่งกินข้าว การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) การเรียนออนไลน์ ฯลฯ ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราจนกลายเป็นวิถีปกติของผู้คน
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ จนเข้าที่เข้าทาง เข้ารูปเข้ารอย กลายเป็นว่ามีข้อดีคือ ช่วยส่งเสริมให้เกิดสัมพันธภาพอันดียิ่งขึ้นระหว่างเพื่อนวัยเรียน เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง คู่รัก สามีภรรยา หรือครอบครัว เพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนได้มีเวลามากขึ้น ต้องคุยกันมากขึ้น ใช้เวลาร่วมกันมากขึ้น เพราะมนุษย์นั้นอยู่ได้เพราะพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเรียน ที่ได้รับผลกระทบจนต้องปรับเปลี่ยนเข้าสู่การเรียนออนไลน์ทั้งหมด สังคมแบบเพื่อนที่เคยพบปะพูดคุยเพื่อทำงานเรียนรู้ร่วมกันจึงต้องเข้าสู่สังคมแบบออนไลน์เต็มรูปแบบ ส่งผลให้สัมพันธภาพของเพื่อนในวัยเรียนก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน
จากผลการสำรวจเรื่อง “ความสุขของนักศึกษา ณ วันนี้” เป็นการสำรวจความคิดเห็นจากนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิตทุกชั้นปี จำนวน 2,546 คน สำรวจวันที่ 7-11 มกราคม 2564 พบผลที่น่าสนใจ คือ ความสุขในชั้นเรียนของนักศึกษาก็คือ “เพื่อน” ร้อยละ 72.60
โดยปัจจัยที่ทำให้นักศึกษามีความสุขมากที่สุด คือ เพื่อน ร้อยละ 83.38
เมื่อมีปัญหาในเรื่องเรียน “เพื่อน” คือคนที่จะช่วยนักศึกษาได้มากที่สุด ร้อยละ 56.13
ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า “เพื่อน” เป็นสัมพันธภาพที่นักศึกษาให้ความสำคัญ ยิ่งเมื่อต้องเรียนออนไลน์ ไม่มีโอกาสได้ออกมาพบปะกัน เพื่อนก็ต้องยิ่งคุยกันให้เข้าใจ (ในโลกออนไลน์) ไม่เช่นนั้นงานที่ทำก็จะไม่ลุล่วง เมื่อมีปัญหาตามมาก็อาจกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน จนทำให้รู้สึกไม่มีความสุขก็เป็นได้
สำหรับช่วงวัยของนักศึกษา การพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพอันดีระหว่างเพื่อนนอกจากจะส่งผลดีระหว่างเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถพัฒนาเป็นสัมพันธภาพที่ดีในช่วงวัยทำงานได้อีกด้วย เมื่อรู้ปัญหาเร็ว ยืดหยุ่น และปรับตัวไว ก็จะทำให้สามารถหาแนวทางแก้ปัญหาได้อย่างราบรื่น บนพื้นฐานการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เป็นการช่วยสร้างสัมพันธภาพได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะอยู่ในสัมพันธภาพแบบเพื่อนวัยเรียน เพื่อนวัยทำงาน หรือเพื่อนคู่คิด หรือสัมพันธภาพแบบใดก็ตาม เพียงแค่เราปรับมุมคิด ทุกสัมพันธภาพในชีวิตของเราก็จะไปต่อได้ในยุคโควิด-19
สรุปแล้ว! ท่านผู้อ่านเชื่อหรือยังครับว่า ไม่ว่ายุคสมัยไหน ๆ “สัมพันธภาพ” ก็ย่อมมีความสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หรือท่านคิดว่า “ไม่จริง” ??