ข่าวพบผู้เสียชีวิตหลังจากได้รับวัคซีนต้านโควิดในนอร์เวย์ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อวัคซีนไม่น้อย แม้ทางการของนอร์เวย์ จะอยู่ระหว่างการสืบสวนหาสาเหตุการเสียชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่ในบุคคลกลุ่มเสี่ยงกลุ่มแรก ที่ดำเนินการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19
ขณะที่นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีมีรายงานผู้เสียชีวิต 23 ราย ที่ประเทศนอร์เวย์ หลังรับวัคซีนเข็มแรก ว่า จากข้อมูลที่ประเทศนอร์เวย์ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศมากกว่า 300 ราย โดยเลือกใช้วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ และโมเดิร์นนา ซึ่งทั้ง 2 ตัว เป็นเทคโนโลยี mRNA อย่างไรก็ตาม วัคซีนเหล่านี้เป็นคนละตัวกับที่ประเทศไทย มีการสั่งจองของบริษัทแอสตราเซเนกา และซิโนแวค ประเทศจีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเชื้อตาย ดังนั้น ประชาชนสบายใจได้ว่าเราไม่ได้ใช้วัคซีนตัว 2 ตัวนี้
นพ.โสภณกล่าวว่า การใช้วัคซีนในต่างประเทศนั้นก็เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยในการวางแผนในการเตรียมการรับวัคซีนอย่างปลอดภัย ซึ่งจากรายงานข่าวทราบว่ามีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังการฉีด ทั้งอาการน้อย เช่น ปวดบริเวณที่ฉีด บวมร้อน บางคนคลื่นไส้ อาเจียน ส่วนกรณีที่เป็นมากๆ อาจจะมีการเกิดภาวะช็อกหลังรับวัคซีน ซึ่งเป็นส่วนน้อย
ขณะที่ นพ.สุทธิชัย วิสุทธิชัยกิจ ภาควิชาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงกระแสความไม่มั่นใจต่อประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค ซึ่งประเทศไทยเตรียมนำเข้ามาจากประเทศจีนเพื่อฉีดให้กับกลุ่มเสี่ยงว่า หากพิจารณาจากตัวเลขการใช้งานในประเทศบราซิลจะพบว่า ซิโนแวคสามารถป้องกันการเกิดภาวะโรคที่มีอาการได้ถึง 78% ซึ่งถือว่ามีประสิทธิภาพ
สำหรับตัวเลขประสิทธิภาพ 50% ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ในขณะนี้ เป็นการบ่งบอกถึงประสิทธิภาพในการป้องกันผู้ติดเชื้อทั้งผู้ที่มีอาการหรือไม่มีอาการ ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของวัคซีน เพราะขนาดวัคซีนไข้หวัดหมูในปี 2009 ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อทั้งผู้ที่แสดงและไม่แสดงอาการเพียง 40-60% เท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ซึ่งป้องกันการเสียชีวิตในผู้สูงอายุได้ดีประมาณ 70% แต่ถ้าว่าด้วยเรื่องของการป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อเลยตัวเลขก็จะตกลงมาอยู่ประมาณ 50%
นพ.สุทธิชัย กล่าวว่า ซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อไวรัสที่ตายสนิทแล้ว ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นเทคโนโลยีที่เคยมีการใช้มาก่อนแล้ว เช่นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ดังนั้นทางการแพทย์ประเทศไทยจึงมีความคุ้นเคยมานานแล้ว ในทางการแพทย์สิ่งที่ต้องการมากที่สุดและเป็นประเด็นหลักของการฉีดวัคซีน คือป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิต ลดความรุนแรงของโรค และลดการนอนโรงพยาบาล ซึ่งจากการศึกษาทดลองในคนหลักหมื่นคน พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนทั้งหมด แต่ในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนยังไม่พบผู้ที่มีอาการรุนแรงที่เกิดจากตัวโรค ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของวัคซีนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยความหนาแน่นของประชากรซึ่งมีผลต่อการเว้นระยะห่างและความเข้มข้นของมาตรการในเรื่องของการสวมหน้ากากอนามัย และล้างมือ ซึ่งหากการเว้นระยะห่างและมาตรการไม่ดีพอ การแพร่กระจายเชื้อย่อมเกิดได้ง่ายขึ้น ประสิทธิภาพของวัคซีนก็อาจจะน้อยลงตามลำดับ
กระนั้น ความหวังในการเข้าถึงวัคซีนยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อสถานการณ์การแพร่ระบาด แม้จะมีข้อกังวลถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ในขณะที่ความป่วยไข้ทางเศรษฐิจ เป็นแรงกดดันใหประเทศจำเป็นต้องเดินหน้าฉีดวัคซีนต่อไป ทว่าสถานการณ์วันนี้ จึงตอกย้ำว่ามาตรการป้องกันต่างๆ ที่มีความเข้มแข็ง และเข้มข้น ยังคงเป็นเกราะคุ้มกันภัยพี่น้องประชาชน จากเชื้อไวรัสมรณะ