ทวี สุรฤทธิกุล การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสร้าง “แรงกระเพื่อม” แก่การเมืองไทยใน 2 เรื่องใหญ่ๆ คือหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างส่วนบนในความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับพระมหากษัตริย์ กล่าวคือได้เกิด “รอยถ่าง” ที่รัฐบาลได้แยกตัวออกจากสถาบันกษัตริย์ ทั้งที่ในตอนแรกคณะราษฎรหวังที่จะดึงสถาบันกษัตริย์ให้เชื่อมเข้ามาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยหวังว่าสถาบันกษัตริย์จะช่วยทำให้คณะราษฎรได้รับความชอบธรรมในหมู่ประชาชน รวมถึงบรรดาข้าราชการและขุนนางในระบอบเก่าก็จะได้เข้ามาร่วมทำงานกันโดยดี แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงสละราชสมบัติจึงทำให้ความมุ่งหวังทั้งหลายนั้นสิ้นสูญไปด้วย ซ้ำร้ายยังเหมือนว่าจะเป็นปฏิปักษ์หรือคู่ขัดแย้งระหว่างกัน ทำให้แรงหนุนที่คณะราษฎรหวังว่าจะได้จากประชาชนและข้าราชการในระบอบเก่าลดฮวบไปโดยสิ้นเชิง รวมถึงที่เกิดปฏิกริยาต่อต้านคณะราษฎรจากผู้คนหลายๆ กลุ่ม อันนำมาซึ่งความชะงักงันของระบบการเมืองที่ไม่ได้เป็นไปตามที่คณะราษฎรหวังจะสร้างขึ้น สอง ความแตกแยกในคณะราษฎรเอง อันเป็นลักษณะเด่นของการเมืองไทยที่ไม่ว่าในยุคใดสมัยใดก็จะมีปรากฏการณ์ของความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำนี้เรื่อยมา ซึ่งในกรณีของคณะราษฎรมีสาเหตุมาจากความเข้าใจผิดในแนวทางของการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศที่แตกต่างกัน (ดังคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลพลพยุหเสนาที่ให้สัมภาษณ์แก่นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่ผู้เขียนเคยนำมาลงไว้แล้ว) จนกระทั่งมาแตกหักในเรื่องการเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม ซึ่งมีแนวทางเป็นสังคมนิยมอย่างชัดเจน ทำให้แกนนำฝ่ายทหารของคณะราษฎรพยายามที่จะคัดค้าน แล้วตามมาด้วยการประกาศยุบสภาของนายกรัฐมนตรีพร้อมกับออกพระราชบัญญัติการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งหลวงประดิษฐ์ฯต้องลี้ภัยการเมืองออกไปอยู่ต่างประเทศ (แม้ว่าหลวงประดิษฐ์จะกลับมามีบทบาทในรัฐบาลและรัฐสภาอีกครั้งในช่วง พ.ศ. 2481 – 2489 แต่ก็อยู่ภายใต้ “กรอบอำนาจ” ที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นผู้กำหนด ในฐานะที่เคยร่วมวางแผนก่อการมาตั้งแต่ครั้งที่ไปศึกษายังต่างประเทศ จึงยังคงจะมีเยื่อใยไมตรีกันอยู่ แต่ต่อมาเมื่อหลวงประดิษฐฯคิดจะขึ้นมาทาบรัศมีด้วยการสร้างอิทธิพลผ่านสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร ก็ทำให้มีศัตรูมากขึ้นทั้งในรัฐบาลและในรัฐสภา จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์สวรรคตของรัชกาลที่ ๘ หลวงประดิษฐ์ฯก็หมดอำนาจโดยสิ้นเชิง แล้วลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศจนกระทั่งวาระสุดท้าย) มีข้อเขียนของบุคคลในฝ่ายคณะราษฎรบางคนกล่าวถึงการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯว่าเป็น “โอกาสทอง” ในการที่จะสร้างประชาธิปไตยตามแนวคิวของคณะราษฎร เพราะจะไม่มีสิ่งใดมาเป็นอุปสรรคขวางกั้นอีกแล้ว รวมทั้งการถอยออกไปจากรัฐบาลของพระยาพหลฯ พระยาทรงสุรเดช และพระยาฤทธิอัคเนย์ ก็ยิ่งจะเป็น “โอกาสเพชร” ที่คณะราษฎรในส่วน “แก่นแท้” ที่ยังคงอยู่ (ซึ่งคงจะหมายถึงหลวงพิบูลสงครามกับหลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดพลาดโดยแท้ เพราะหลังจากนั้นมาแล้วสถานะของคณะราษฎรก็ยิ่งตกต่ำ แม้ว่าวิกฤติอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 จะมาช่วยเชิดชูบทบาทของคณะราษฎรอยู่ในระยะแรกๆ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังดำเนินไปนั่นเอง ก็แสดงให้เห็นว่าคณะราษฎรไม่ได้เป็นเนื้อหนึ่งอันเดียวกัน นั่นก็คือในกรณีที่หลวงประดิษฐ์ฯ(ภายหลังมาใช้ชื่อว่านายปรีดี พนมยงค์)ได้เป็นแกนนำของคณะเสรีไทย อันเป็นกลุ่มต่อต้านการเข้าร่วมกับญี่ปุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (ชื่อเดิมคือหลวงพิบูลสงคราม) รวมถึงเป็นตัวตั้งตัวตีในการนำจอมพล ป.ขึ้นศาลอาชญากรสงครามอีกด้วย มีการเล่าขานกันทั่วไปในหมู่นักการเมืองและข้าราชการที่มีชีวิตอยู่ในช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองถึง “ความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไป” ระหว่างจอมพล ป. กับหลวงประดิษฐ์ฯ ว่าเป็นผลมาจากแนวคิดที่แต่ละคนนั้นต้องการที่จะ “สร้างดาวคนละดวง” หรือแย่งชิงกันมีอำนาจตามแบบวิถีทางของตนนั่นเอง เล่ากันว่าในขณะที่จอมพล ป.พยายามที่จะ “ผนึกแน่น” ในส่วนขั้วต่างๆ ของกองทัพ หลวงประดิษฐ์ฯที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยู่ก็พยายาม “สร้างความมั่งคั่ง” ในส่วนข้าราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในฝ่ายของตน โดยพบว่ามีการค้าของเถื่อน หลีกเลี่ยงภาษีอากร และการแจกจ่ายสัมประทานต่างๆ ในหมู่พรรคพวก แม้กระทั่งในการผลิตและจำหน่ายยาเสพติดที่มีมากในสมัยนั้นคือฝิ่น ก็ปรากฏว่ามีข้าราชการไปใช้อิทธิพลร่วมแสวงหาประโยชน์อยู่ด้วย ดังที่ปรากฏว่าต่อมาเมื่อจอมพล ป.หวนคืนมามีอำนาจอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2490 ก็ได้มีการ “เก็บกวาด” ไล่ล่าไล่ล้างบรรดาข้าราชการและนักการเมืองในฝ่ายของหลวงประดิษฐ์ฯนี้อย่างรุนแรง ถึงขั้นที่มีการฆาตกรรมกันกลางเมือง อย่างกรณีการสังหาร 4 รัฐมนตรีใน พ.ศ. 2492 นั้น ผู้คนในยุคนั้นโจษขานกันว่า “เวรกรรมมีจริง” เพราะทั้งจอมพล ป.และหลวงประดิษฐ์ฯ ต่างก็ไปตายที่ต่างประเทศ คณะราษฎรอื่นๆ ที่ตายแปลกๆ ก็มี เช่น ถูกรถเมล์ชนตายตรงหัวมุมแยกศูนย์การค้าราชประสงค์ หรือเป็นโรคร้ายตายอย่างทุกข์ทรมาน รวมทั้งที่เวรกรรมเกล่านั้นตกมาถึงลูกหลาน ที่หลายคนต้องปิดบังประวัติส่วนตัวที่เกี่ยวข้อง หลายคนแม้จะมีฐานะมั่งคั่งจากเงินที่สะสมมาจากบุพการีที่เคยร่วมอยู่ในคณะราษฎรก็เอาไปลงทุนทำอะไรไม่สำเร็จและล้มเหลว ในที่สุดก็สิ้นเนื้อประดาตัวไปก็มีรู้ทั้งรู้ แต่ก็ยังชอบสร้างเวรกรรมให้บ้านเมืองตลอดมา