วันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ในยุคโควิด ทำให้ทำเนียบรัฐบาลงดจัดกิจกรรม แต่ได้มีการบันทึกเทป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับตัวแทนเด็กๆและเยาวชนบนตึกไทยคูฟ้าในกิจกรรม “ลุงตู่พาหลานชมห้องทำงานนายกฯ”
ซึ่ง “น้องทิกเกอร์” หนึ่งในเด็กที่ร่วมกิจกรรม ได้พูดคุยกับนายกฯ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างยานอวกาศ โดยบอกว่า จะสร้างยานอวกาศขนาดใหญ่ที่ไปถึงดาวอังคาร ซึ่งนายกฯ ก็ขอให้คิดไว้ เพราะโลกก็คิดแบบนี้อยู่ วันข้างหน้าก็คาดหวังว่าจะได้เห็นน้องทิกเกอร์เป็นนักบินอวกาศ
อันที่จริง ความฝันของ “น้องทิกเกอร์” และเด็กไทยอีกหลายคน ก็อาจจะไม่ใช่ความฝันอีกต่อไป
เมื่อก่อนหน้านี้ ศ.ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย กำลังพัฒนาไปข้างหน้า และได้ตั้งเป้าหมายว่าอีกไม่เกิน 7 ปี ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่จะผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ จนเกิดกระแสวิพาษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกออนไลน์
ต่อมา ศ.ดร.เอนก ก็ออกมาตอกย้ำถึงแผนพัฒนาสร้างยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ ภายใน 7 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานปี 2564 ภายในงานสรุปผลงานเด่นและนวัตกรรมต้านวิกฤติโควิด-19 ปี 2563 และแผนยุทธศาสตร์ปี 2564ว่า คนไทยมีความสามารถและทักษะในทางดาราศาสตร์ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดในการทำดาวเทียมและยานอวกาศ ในปัจจุบันไทยทำดาวเทียมขนาด 1-5 กิโลกรัม ที่ส่งขึ้นไปโคจรในประเทศอยู่แล้ว และโดยในอีก 4 ปีต่อจากนี้มีแนวโน้มที่จะผลิตดาวเทียมด้วยเทคโนโลยีศักยภาพสูง ให้มีความทันสมัยมากขึ้นในขนาด 50-100 กิโลกรัม หลังจากทำสำเร็จจะเดินหน้าต่อเนื่องทำยานอวกาศขนาดประมาณ 300 กิโลกรัม เพื่อเป้าหมายในการโคจรรอบดวงจันทร์ โดยน้ำหนักของยานอยู่ที่ 150 กิโลกรัม และอีก 150 กิโลกรัม จะเป็นน้ำหนักของซีนอนและแก๊ส ที่จะใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทำปฏิกิริยากับซีนอนแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงาน ที่จะขับเคลื่อนด้วยความเร็ว 11 กิโลเมตร/วินาที เพื่อทะลุวงโคจรของโลก เมื่อยานเข้าใกล้ดวงจันทร์ก็จะปรับเป็นความเร็ว 2 กิโลเมตร/วินาที ทำการโคจรรอบดวงจะ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ ทั้งนี้จะทำร่วมกับหลายองค์กรและทำโดยคนไทย และคาดว่าจะสามารถพัฒนาไปถึงระบบบังคับยานอวกาศได้จากพื้นดิน โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณราว 3,000 ล้านบาท
ขณะที่แถลงข่าวอีกครั้งในวันที่ 13 มกราคม ย้ำว่า หากจะบอกว่า สร้างยานอวกาศเพื่อไปดวงจันทร์ตรงนั้นอาจเป็นการพูดที่ไร้สติ แต่เป้าหมายที่วางไว้ คือ ไปดวงจันทร์ คาดว่า ใช้เวลาอีกไม่เกิน 7 ปี ทั้งนี้การที่ตนออกมาพูดเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่ว่า อยากของบประมาณ และไม่ใช่พูดว่าจะเริ่มทำในช่วงที่ตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการอว. เรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำมานานแล้ว ทั้ง สถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า สำนักงานประสานงานส่วนหน้า สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มหาวิทยาลัยต่าง ๆ อาทิ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.) เหล่านี้มาช่วยกัน และมีการพัฒนามาจนคนทำงานคาดการณ์ได้ว่า อีก 7 ปีจะสามารถส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ไม่ใช่เรื่องที่รัฐมนตรีว่าการอว.พูดขึ้นมา เพราะอยากทำแล้วจะมาขอเงิน วัตถุประสงค์คือเล่าให้ฟังเพื่อต้องการจะบอกข่าวดี ว่าเงินภาษีของคนไทยที่รัฐบาลนำมาใช้จ่าย ส่งนักเรียน นักศึกษาไปศึกษาต่างประเทศ นานกว่า 40 ปี นั้น สัมฤทธิ์ผลสร้างนักวิทยาศาสตร์ กลับมาช่วยพัฒนาประเทศ
เราเห็นว่า เรื่องอวกาศไม่ใช่เรื่องฝันเฟื่อง เรื่องผลาญงบประมาณ หากแต่เป็นความมั่นคง และคืออนาคตของประเทศไทย ที่แน่นอนว่าหากใครช้าก็จะตกขบวน กระนั้นในช่วงนับจากนี้ จนกว่าจะถึงกำหนดระยะเวลา 7 ปีตามเป้าหมายที่ฝันเป็นจริง ยานอวกาศไทยจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาคน และพัฒนาประเทศด้านต่างๆได้อีกมหาศาล จนประเมินมูลค่าไม่ได้