การเคลื่อนไหวจัดกิจกรรม ของ "กลุ่มการ์ดราษฎร" ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา กำลังจะกลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ที่สามารถแปรให้กลายเป็นได้ทั้ง "วิกฤติ" และ "โอกาส" สำหรับขยับทัพในช็อตต่อไปของ "ม็อบสามนิ้ว" เมื่อ หนึ่ง การเคลื่อนไหว มีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้มาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวกับความผิดจากการดูหมิ่นจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อ สอง การเคลื่อนไหว เกิดขึ้นในห้วงเวลาที่ประเทศไทยทุกภาคส่วนต่างกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพื่อให้ประเทศฝ่าพ้นไปจากวิกฤติที่เกิดต่อภาวะเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของผู้คน เมื่อสาม ในการเคลื่อนไหวของกลุ่มการ์ดราษฎร รอบนี้มีการใช้ระเบิดปิงปอง โยนเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ จนมีเจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บ เมื่อ สี่ การเคลื่อนไหวครั้งนี้ ยังได้สะท้อน "คนนอก"ได้เห็นถึง "รอยร้าว" ที่เกิดขึ้น ระหว่าง "คนใน" ด้วยกันเอง ว่าที่ผ่านมานั้น มอตโต้ ที่ว่า "ทุกคนคือแกนนำ" ก็อาจไม่จริงเสมอไป โดยเฉพาะมีสัญญาณจาก แกนนำกลุ่มแนวร่วมกับกลุ่มการ์ดราษฎร อย่าง "รุ้ง" ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ต้องออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก Panusaya Sithijirawattanakul ไล่หลังจากที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่มการ์ดราษฎร เมื่อวันที่ 16 ม.ค.64 ว่ากลุ่มราษฎร ไม่เกี่ยวข้องกับการนัดรวมตัวกันที่บริเวณสามย่าน กทม. " ในฐานะโฆษกอย่างเป็นทางการของกลุ่ม "ราษฎร" ขอชี้แจงให้ประชาชนทุกท่านทราบว่าการประกาศรวมตัวที่สามย่านที่เกิดขึ้นในวันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากกลุ่ม ราษฎร จึงเรียนมาเพื่อขอให้พี่น้องประชาชนระมัดระวังข้อมูลข่าวสาร และติดตามการประกาศและการเคลื่อนไหวของเราได้ทางเพจของแกนนำ และเพจ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม - United Front of Thammasat and Demonstration จนกว่าจะมีการประกาศเพจของราษฎรอย่างเป็นทางการเท่านั้น" จนทำให้หน้าเพจเฟซบุคของรุ้ง โดนถล่มจนเละ จากมิตรรักแฟนม็อบราษฎร ในท่วงทำนองว่าจะมาทิ้งกันเองดื้อๆแบบนี้หรือ ? แน่นอนว่าการเคลื่อนไหวจัดกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มการ์ดราษฎร ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมานั้น มีความพยายามที่จะจัดม็อบขึ้นมาเอง จาก "ใครบางคน" ด้วยการทำม็อบย่อยขึ้นในจังหวะที่แกนนำตัวหลัก อย่าง รุ้ง ปนัสยา , เพนกวิน เองต่างอยู่ในที่ตั้ง จะออกโรงบ้างก็มาช่วยรุ่นพี่รุ่นน้องถูกจับกุม ถูกควบคุมตัว แต่ไม่ได้ออกมานำการชุมนุม เหมือนก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี การออกมาส่งสัญญาณจากรุ้ง ปนัสยา โดยยืนยันว่าการจัดกิจกรรมรวมตัวกันของการ์ดราษฎร นั้นไม่เกี่ยวกับกลุ่มราษฎรนั้น ยังไม่จบเพัยงแค่นั้นเมื่อเหตุการณ์ "อุ้มหาย" เมื่อคืนวันที่ 16 ม.ค. มงคล สันติเมธากุล หรือ เยล หนึ่งในสมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎรที่ใช้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า "ช่วยด้วย" ก่อนจะหายตัวไปอย่างลึกลับ จากนั้นคนในกลุ่มการ์ดราษฎร อ้างว่า มี คนที่อ้างตัวว่า "เจ้าหน้าที่ของ กอ.รมน." มาคุยแชทไลน์พร้อมทั้งอ้างว่าเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของเยล แต่สุดท้ายในช่วงบ่ายของวันอาทิตย์ที่ 17 ม.ค.ป้อมปืน ปานพวงแก้ว ผู้ประสานงานทีมการ์ดราษฎร ได้เข้าให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.พญาไท ภายหลังจากที่คนในกลุ่มเจอตัว เยล แล้ว ขณะที่ทางกอ.รมน. เอง ได้ออกมาชี้แจงพร้อมทั้งยืนยันว่า ฝ่ายความมั่นคง โดยกอ.รมน. ไม่มีภารกิจหรือรับผิดชอบใดๆในการเข้าไปดูแลรักษาความเรียบร้อยจากการชุมนุมเคลื่อนไหว รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของ เยล สมาชิกกลุ่มการ์ดราษฎร แต่อย่างใด ขณะที่ฝ่ายแกนนำและแนวร่วม ม็อบราษฎร พยายาม "ปั่น"การหายตัวไปของสมาชิกในกลุ่ม แต่ในเวลาเดียวกันประเด็นที่แกนนำไม่เข้าไป "แตะ" นั่นคือการประกาศชัดว่าจะนัดระดมพล ออกมาจัดชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบัน เมื่อใด หมายความว่า วัน ว. เวลา น. ยังไม่ชัด แต่เมื่อกลุ่มม็อบ กลุ่มหลักที่มี รุ้ง และเพนกวิน นำหน้า ยังไม่ประกาศนัดรวมพล กลับน่าสนใจว่า เหตุใดจึงมีการ "ม็อบย่อย" ในนามกลุ่มการ์ดราษฎร ออกมาเคลื่อนไหวท้าทาย ยั่วยุฝ่ายความมั่นคง กันเสียเอง ทั้งที่มีรายงานจากแกนนำม็อบด้วยกันเองแล้วว่า ไม่ต้องการให้จัดม็อบย่อย เพราะยากต่อการควบคุม ไปจนถึงจะสุ่มเสี่ยงที่จะเป็นฝ่ายเสียเปรียบ คำถามที่น่าสนใจ ซึ่งกำลังสะพัดทั้งในกลุ่มม็อบด้วยกันเอง ไปจนถึง ประชาชนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม กำลังพุ่งไปหาคำตอบว่า การออกมาเคลื่อนไหว ในรูปแบบ "ม็อบย่อย" นั้นมาจาก "สัญญาณ" หรือการรับงานมาเป็นการเฉพาะหรือไม่ โดยที่ ม็อบใหญ่ ไม่เอาด้วย การเคลื่อนม็อบเวลานี้ มีแต่จะสุ่มเสี่ยง ต่อเสียงต้านจากคนในสังคม และที่สำคัญไปกว่านั้น อย่าลืมว่า เวลานี้ "มือดี" จากฝ่ายความมั่นคงเอง ไม่ใช่เป็นฝ่ายตั้งรับ อยู่ฝ่ายเดียวอีกต่อไป !