ชุมศักดิ์ นรารัตน์วงศ์
พุฒิพงศ์ เพชรรัตน์ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) สะท้อนความรู้สึกว่า รู้สึกดีใจที่ได้มาฝึกอบรมและปฏิบัติงาน ณ กระทรวงการต่างประในครั้งนี้ เพราะทำให้ได้รับประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมในหลากหลายด้าน
“สำหรับทัศนะเกี่ยวกับแง่มุมความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้าน อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน ผมมองว่าประชาชนกลุ่มเหล่านี้มีวัฒนธรรมร่วมกัน ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ดังกล่าวใช้ภาษามลายูในการสื่อสาร นับถือศาสนาอิสลามเป็นหลัก มีวิถีการดำรงชีวิตที่ใกล้เคียงกัน เช่น อาหาร ความเชื่อ เป็นต้น”
รุสมีนา อูมะ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ศิลปศาสตรบัณฑิต ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา บอกเล่าถึงความรู้สึกของนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความเป็นอยู่ในรูปแบบของสังคมพหุวัฒนธรรม มีโอกาสไปเยือนกระทรวงการต่างประเทศ และเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่างๆ พร้อมรับฟังบรรยายเรื่องราวที่น่าสนใจหลายๆ หัวข้อ หนึ่งในนั้นเป็นหัวข้อเรื่อง “รู้จักประเทศเพื่อนบ้านผ่านแง่มุมประวัติศาสตร์ : ประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสาลาม” (ร่วมกับหลักสูตรนักการทูตแรกเข้าฯ) ทำให้ได้ความรู้ใหม่หลายเรื่อง เนื่องจากพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุสสาลาม ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเป็นชาติพันธุ์มลายู ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนมลายูดั้งเดิมส่วนใหญ่มักอาศัยอยู่ตามพื้นที่ราบชายฝั่งมากกว่าอาศัยอยู่ตามป่าเขา เพราะมีความคุ้นเคยและชำนาญพื้นที่มากกว่า และผู้คนแต่ละพื้นที่ต่างล้วนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันนี้มีประชากรคนพื้นเมืองดั้งเดิมเหลืออยู่ประมาณ 200 กว่าคน คนทั่วไปมักเรียกว่า “ซาไก” แต่คนพื้นเมืองเดิมเหล่านี้จะชอบเรียกตัวเองว่า “โอรังอัสลี” โดยที่จังหวัดนราธิวาส มีอยู่ 3 กลุ่มย่อย รวมประมาณ 100 คน และที่จังหวัดยะลามี 3 กลุ่มย่อย รวมประมาณ 100 คนเช่นเดียวกัน การได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ทำให้เห็นภาพการเชื่อมต่อของผู้คนดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียง 3-4 ประเทศทั้ง บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ต่อกัน ผ่านการอพยพ เรื่องของการค้าทำให้เกิดการเดินเรือ เมื่อมีการเดินเรือ มีการติดต่อค้าขาย ก็จะนำวัฒนธรรมของตนเองมาเผยแพร่ด้วย จะเห็นได้ว่าภาคใต้ของประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งของคนพื้นเมืองเดิมแห่งโลกมลายูเช่นเดียวกัน
“ในส่วนของการฝึกงาน ณ กรมการกงสุล พวกเราได้ฝึกงานเกี่ยวกับการทำหนังสือเดินทางกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นกันเอง เป็นมิตร และพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้กับพวกเราในทุกๆ ขั้นตอนของการปฏิบัติหน้าที่ ได้พบกับผู้ใหญ่ใจดีหลายท่าน ได้พูดคุยกับผู้หลักผู้ใหญ่ที่ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เจอ เรียกได้ว่ามากล้นเกินคำบรรยาย ดิฉันดีใจที่เป็นคนที่ถูกเลือก ดีใจที่พระองค์ (เอกอัลลอฮ) มอบสิ่งที่ปรารถนา แต่คิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ดิฉันคนเดียวที่ได้รับโอกาสอันทรงเกียรตินี้ เพื่อนๆ และชาวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ได้รับโอกาสอันทรงเกียรตินี้เช่นเดียวกัน ดิฉันจะนำความรู้และประสบการณ์จากโครงการนี้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งไปเผยแพร่ให้กับชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้อีกด้วย (Insyaalloh”
ซอบารียะห์ สามะ คณะศิลปศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยลัยฟาฎอนี กล่าวว่า รู้สึกประทับใจมากที่ได้รับการคัดเลือกให้มาอบรมในโครงการฯ รวมไปถึงได้แลกเปลี่ยนความรู้และทัศนคติแง่มุมต่างๆ จากวิทยากร และพี่ๆ นักการทูตแรกเข้า การได้ฟังบรรยายจากวิทยากรหลายท่าน ทำให้รู้สึกได้ว่าแต่ล่ะท่านนั้นเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้ นำประสบการณ์มากมายมาบรรยายบอกเล่าเป็นการเปิดโลกทัศน์ของพวกเรา
กูมัยยีซะห์ โต๊ะรายอ คณะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาวิชาพืชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตหาดใหญ่) บอกว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการซึ่งได้มอบความรู้เป็นอย่างมาก ขอขอบคุณผู้จัดทำโครงการที่มอบโอกาสดีๆ ให้แก่พวกเราทุกคน และอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้ในปีถัดไป
“แง่มุมทางประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และบรูไน มองว่าเนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีลักษณะคล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านหลายอย่าง โดยเฉพาะความเป็นชาติพันธ์มลายู ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต รวมไปถึงประเพณี วัฒนธรรม เช่น การแต่งกาย อาหาร ภาษาพูด มีความใกล้เคียงกันมาก”
เหล่านี้คือตัวอย่างส่วนหนึ่งของนักศึกษาจาก โครงการรับนักศึกษาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝึกอบรมและฝึกปฏิบัติงาน ณ กระทรวงการต่างประเทศ ปี 2560 ซึ่งมีโอกาสได้รับฟังการบรรยายดีๆ ในหลายหัวข้อ เช่น“Thailand 4.0” โดย ดร.ทยทัต กาญจนพิพัฒน์กุล นักการทูตชำนาญการ (ที่ปรึกษา) กองสนเทศเศรษฐกิจ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ การบรรยายหัวข้อ “ความสัมพันธ์ไทยกับโลกมุสลิม” โดย คุณเปายี แวสะแม นักการทูตชำนาญการ กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา ดร.โชติรัตน์ โกมารทัต นักการทูตชำนาญการ กลุ่มงานความมั่นคงระหว่างประเทศ หัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ รวมถึงการรับฟังบรรยายและศึกษาดูงานในหลากหลายสถานที่ เช่น ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับฟังบรรยายและศึกษาดูงาน ณ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) การทัศนศึกษาวิถีชุมชน / ประวัติศาสตร์ (จังหวัดสมุทรสงคราม) ศึกษาดูงาน “การดำเนินงานและการผลิตสินค้าอาหารฮาลาล” ที่โรงงานของบริษัท ไอบีเอฟ ฮาลาลฟู้ด จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ รับฟังบรรยายและเยี่ยมชม “มัสยิดบางหลวง (กุฎีขาว) และการสาธิตการผลิตขันลงหินบ้านบุ (สินค้า OTOP ห้าดาว) สืบสานและอนุรักษ์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา” รับฟังบรรยายและเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี” โดย ผู้แทนพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี และรับฟังบรรยายและเข้าชม “วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร” โดย เจ้าอาวาสวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ฯลฯ