ณรงค์ ใจหาญ
โทษทางอาญาที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าควรมีอยู่หรือไม่ หรือเป็นโทษที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม จนประเทศส่วนใหญ่ในโลกได้ยกเลิกไปแล้วถึง 111 ประเทศ คือโทษประหารชีวิต และมีประเทศที่ไม่บังคับโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ แม้ว่าจะมีโทษดังกล่าวในกฎหมายก็ตาม มีจำนวน 30 ประเทศ รวมเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางกฎหมายและทางปฏิบัติถึง 141 ประเทศในปัจจุบัน ในขณะที่ ประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิต มีจำนวน 57 ประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทย เป็นประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตในกฎหมาย และยังไม่เป็นประเทศที่ไม่เคยบังคับโทษประหารชีวิตเกินกว่า สิบปี ซึ่งจะถือว่าเป็นการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ
ในประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตนั้น จีนถือเป็นประเทศที่บังคับโทษประหารชีวิตมากที่สุดของโลก รองลงได้แก่ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และปากีสถาน และถ้าพิจารณาจากจำนวนผู้ที่ถูกประหารชีวิต ในโลกนี้ ในปี พ.ศ. 2559 มีจำนวนถึง 1,032 คน ส่วนในสหรัฐอเมริกา มีผู้ที่ต้องบังคับโทษประหารชีวิต ในปี พ.ศ. 2559 ถึง 20 ราย ซึ่งอยู่ในอันดับเจ็ดของโลก ในขณะที่ประเทศไทย แม้จะมีคดีที่ศาลตัดสินให้ประหารชีวิต แต่ในทางปฏิบัติมักจะได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยเปลี่ยนเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต และหากพิจารณาย้อนหลัง ประเทศไทยมีการประหารชีวิตจริงๆ ล่าสุดในปี พ.ศ. 2552 จำนวน 2 ราย ซึ่งเป็นพ่อค้ายาเสพติดรายใหญ่ และหลังจากนั้น ยังไม่มีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติเลยจนปัจจุบัน เป็นเวลาถึง 8 ปี ซึ่งหากยังไม่มีการประหารชีวิตในอีก 2 ปี ประเทศไทยก็จะได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ไม่มีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติ และหากมีแผนงานที่ชัดเจนว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตตามกฎหมายอย่างจริงจังก็จะได้ยกระดับว่าเป็นประเทศที่ไม่มีการประหารชีวิตในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับใน 30 ประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติแล้ว เช่น แอลจีเรีย ลาว เกาหลีใต้ ศรีลังกา ตูนีเซีย เมียนมาร์ เป็นต้น
ปัญหาว่า รัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม และประชาชน มีความเห็นอย่างไร ในการยกเลิกหรือคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิตในกฎหมายไทย และการยกเลิกโทษประหารชีวิตจะส่งผลดีอย่างไรต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเวทีระหว่างประเทศ และมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของคนในสังคมหลังจากที่ไม่มีโทษประหารชีวิตในกฎหมายอีกต่อไป
สัญญาณในเชิงบวกที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีจุดยืนในการพิจารณายกเลิกโทษประหารชีวิต ได้แก่ การลงนามให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับ ฉบับที่สอง ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เรื่องมุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตภายใน พ.ศ. 2561 และมีแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2552-2556) กำหนดให้กฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตได้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ยกเลิก และให้เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน แต่ก็ยังไม่ได้ดำเนินการจนเป็นที่สำเร็จ แต่ในแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2557-2561) มีความชัดเจนมากขึ้นว่า จะเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตให้เข้าสู่การพิจารณาเป็นโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยมีแผนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ให้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนทราบ เพื่อผลต่อการยอมรับและเปลี่ยนแปลงโทษดังกล่าว
กลุ่มที่เป็นนักวิชาการและองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร เช่น แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย รวมถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ส่วนใหญ่จะเห็นสอดคล้องไปในทางเดียวกันว่า ควรยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายไทย ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ถึง 55 ฐานความผิดทั้งที่บัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา และในกฎหมายพิเศษอื่นๆ รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ รวมถึงเอกสารเผยแพร่เพื่อรณรงค์ให้มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศไทยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
ในด้านผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการรักษาความเสงบเรียบร้อยทั้งภายในและภายนอก มีความเห็นส่วนใหญ่ที่จะยังคงโทษประหารชีวิตไว้กฎหมายเพื่อผลในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดที่มีความร้ายแรงหรือเป็นภัยอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศไทย เช่น ความผิดฐานก่อการร้าย การฆ่าคน หรือความผิดฐานกบฏ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ความผิดฐานค้ายาเสพติด ประเภทที่ 1 เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเจ้าหน้าที่เหล่านี้ มีทัศนะและความเชื่อว่า การมีโทษประหารชีวิต จะมีผลต่อการยับยั้งมิให้คนคิดที่จะกระทำความผิดซึ่งเป็นผลต่อตัวผู้กระทำความผิดเองและต่อประชาชนทั่วไป ส่วนผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายก็เห็นเป็นสองแนวทาง เพราะบางกลุ่มเห็นว่ามีความจำเป็นและบังคับโทษประหารชีวิตในคดีที่มีพฤติการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสังคม เช่นการฆ่ายกครัว ข่มขืนแล้วฆ่า หรือปล้นทรัพย์แล้วฆ่า เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในด้านผู้พิพากษานั้น เห็นว่าแม้ในคำพิพากษาจะตัดสินลงโทษประหารชีวิต แต่มักจะได้รับการบรรเทาโทษหรือมีเหตุลดโทษอย่างอื่นที่ทำให้จำเลยไม่ได้รีบโทษประหารชีวิตจริงๆ ในคำพิพากษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มของผู้พิพากษาและพนักงานอัยการส่วนใหญ่ จะไม่กำหนดโทษประหารชีวิต กับความผิดที่มีกฎหมายบัญญัติให้มีโทษประหารชีวิต แต่มักจะเลี่ยงไปในการลงโทษจำคุกตลอดชีวิตแทน
เหตุผลในการสนับสนุนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต คือ การประหารชีวิตเป็นโทษที่ละเมิดสิทธิในชีวิตของคน ซึ่งได้รับการยอมรับในนานาประเทศว่า ชีวิตมนุษย์มีความสำคัญแม้ผู้นั้น จะกระทำความผิดร้ายแรงเพียงใด ก็ไม่อาจลงโทษให้ถึงแก่ความตายได้ ส่วนเหตุผลที่สำคัญอีกประการคือ ความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม หากศาลพิพากษาลงโทษประหารชีวิตแล้ว ต่อมาภายหลังพบหลักฐานที่แน่ชัดว่าผู้ต้องโทษประหารชีวิต ไม่ได้กระทำความผิดเพราะจับผิดตัว ดังนี้ การแก้ไขให้กลับคืนสถานะเดิมทำไม่ได้แล้ว เพราะมีการประหารชีวิตไปแล้ว แต่ถ้าเป็นโทษจำคุกมีกำหนดเวลา หรือจำคุกตลอดชีวิต สามารถชดเชยเยียวยาได้ ในขณะที่เหตุผลในการคงอยู่ของโทษประหารชีวิต คือ เหตุผลที่โทษประหารชีวิตมีประสิทธิภาพในการยับยั้งผู้กระทำความผิด มีค่าใช้จ่ายในการบังคับโทษน้อยกว่าโทษจำคุก และมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึง สามารถตัดผู้กระทำความผิดติดนิสัยหรือเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมออกไปจากสังคมโดยเด็ดขาด อย่างไรก็ดี ข้อพิสูจน์ว่า โทษประหารชีวิต มีผลต่อการยับยั้งผู้กระทำความผิดจริงหรือไม่ มีงานวิจัยหลายๆ ชิ้นทั้งในและนอกประเทศที่แสดงให้เห็นผลกระทบต่อการลดลงของอาชญากรรมที่ร้ายแรงซึ่งมีทั้งงานวิจัยที่สนับสนุน และโต้แย้งถึงประสิทธิภาพของโทษประหารชีวิต ในการตอบแทนหรือยับยั้งผู้กระทำความผิด มีจำนวนที่ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่อาจเกิดผลต่างกันคือ ค่านิยมของคนในสังคมว่า มีความกลัวเกรงต่อโทษประหารชีวิตเพียงใด และขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของเจ้าพนักงานในการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายว่ามีความเข้มงวดจริงจังเพียงใด
แนวทางในแผนงานของการยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายไทย คงจะมีลักษณะดำเนินการเป็นระยะๆ กล่าวคือ ในระยะแรก จะพิจารณาความผิดใน 55 ฐานความผิดว่า ความผิดใดที่ไม่ควรมีโทษประหารชีวิต เช่นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่มีผลทำให้คนตาย หรือความผิดฐานลักทรัพย์พระพุทธรูปในทางศาสนา ความผิดเกี่ยวกับราชการทหาร ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นต้น ส่วนความผิดที่ร้ายแรงและประทุษร้ายต่อชีวิต เช่น ฆ่าคนโดยไตร่ตรองไว้ก่อน หรือความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ น่าจะยังคงโทษประหารชีวิตไว้ ทั้งนี้ ในหลักสากล คงยอมให้มีโทษประหารชีวิตกับความผิดที่ร้ายแรงที่สุด ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นความผิดที่ประทุษร้ายต่อชีวิต เป็นหลัก อย่างไรก็ดี ในระยะที่สอง ซึ่งจะยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งหมด คงต้องพิจารณาต่อไปว่า หากยกเลิกแล้ว จะมีผลต่อการลดความผิดอาญา หรือไม่ หากปรากฏว่า ความผิดที่ไม่มีโทษประหารชีวิต มีสถิติเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับก่อนที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิต อาจมีแนวคิดที่จะนำโทษประหารชีวิต กลับมาบัญญัติไว้อีกหลังจากยกเลิกไปแล้ว ดังเช่นประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกา ที่บางมลรัฐนำโทษประหารชีวิต เข้ามาในกฎหมายหลังจากที่ยกเลิกไปแล้ว เพราะมีอาชญากรรมสูงขึ้น
โดยสรุป แนวทางของประเทศไทยที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตบางฐานความผิดในกฎหมายไทย มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ แต่ที่ควรต้องดำเนินการต่อไปคือ การจัดทำวิจัยและวิเคราะห์ว่า โทษประหารชีวิต ควรมีในกฎหมายไทยทั้งหมดหรือแต่บางส่วนหรือไม่ และหากยกเลิกทั้งหมดจะมีความเสี่ยงอย่างไร หรือในทางตรงข้าม หากมีอยู่จะตอบโจทย์ว่าโทษประหารชีวิต ขัดต่อหลักสิทธิมนุษย์ชนที่คุ้มครองชีวิตอย่างไร และการมีอยู่แต่ไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัตินั้น โทษประหารชีวิตที่ได้รับการบัญญัติในกฎหมายจะมีผลเป็นการยับยั้งการกระทำความผิดเพียงใด ซึ่งคำตอบจะเป็นเช่นใด ก็คงขึ้นอยู่กับทัศนคติ ของผู้บริหาร เจ้าพนักงาน และประชาชนที่จะตัดสินใจและดำเนินการต่อไป