การรวมตัวของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น เริ่มจาก “สมาคมอาเซียน” เมื่อองค์การซีโต้ไม่ประสบความสำเร็จ สหรัฐอเมริกาจึงผลักดันให้ก่อตั้งองค์การในภูมิภาคขึ้นใหม่ เพื่อรองรับการยุติบทบาทของซีโต้ องค์การใหม่นั้นก็คือ “อาเซียน” ASEAN มีชื่อเต็มว่า “สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (The Association of Southeast Asian Nation) อาเซียนก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม พ.ศ 2510 โดยมีสมาชิกแรกก่อตั้งห้าประเทศ ได้แก่ ไทย , ฟิลิปปินส์ , มาเลเซีย , สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ถ้ามองจากประวัติศาสตร์แล้ว อาเซียนก็คือกลไกหนึ่งที่มหาอำนาจตะวันตกผลักดันให้เกิดขึ้นโดยหวังจะให้อาเซียนเป็นตัวต้านทานลัทธิคอมมิวนิสต์ นี่คือหมุดหมายแรกของอาเซียน
อาเซียนรวมตัวกันอย่างหลวม ๆ ตามบทบาทนั้นอยู่นาน จนกระทั่งโลกเข้าสู่ยุค “การค้าเสรี” เกิดองค์กรเหนือรัฐชื่อ “องค์การค้าโลก” WTO ขึ้นแทนที่ “ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า” GATT อาเซียนจึงขยับปรับตัว ขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจชัดเจนและมากขึ้น โดยตกลงสร้าง “เขตการค้าเสรีภูมิภาคอาเซียน” AFTA ขึ้นใน พ.ศ 2535 นี่เป็นหมุดหมายที่สองของอาเซียน
ครั้นเมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโรคต้มยำกุ้ง เมื่อ พ.ศ 2540 ไทยเป็นผู้ริเริ่มขับเคลื่อน (อดีตประธานาธิบดีลีกวนยู อ้างว่า เขาเป็นผู้เสนอแนวคิดนี้ให้นายอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรีของไทย เป็นคนผลักดัน) พัฒนายกระดับอาเซียนโดยการรวมตลาดและขยายตลาดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ทั้งนี้จำเป็นจะต้องรวมตัวกันให้เร็วขึ้น และได้กำหนด “วิสัยทัศน์อาเวียน 2563 ” ASEAN VISION 2020 ขึ้น เมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ 2540 นี่เป็นหมุดหมายที่สามของอาเซียน
สาระสำคัญที่สุดของ “วิสัยทัศน์อาเซียน 2563 ” คือ
“อาเซียนจะต้องเป็นเสมือนวงสมานฉันท์ของบรรดาประเทศสมาชิกที่มุ่งปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก และดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีเสถียรภาพ มีความมั่งคั่ง ตลอดจนร่วมกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาอย่างมีพลวัต เพื่อก้าวสู่การเป็นสังคมที่ดูแลห่วงใยซึ่งกันและกัน(caring societies)”
หลังจากนั้นความคืบหน้าของประชาคมอาเซียนก็พัฒนารวดเร็วขึ้น การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 14 ค ที่ชะอำ อาเซียนออกเอกสารสำคัญคือ Roadmap for an ASEAN COMMUNITY 2009 – 2015 เป็นเอกสารที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ สามเสาของประชาคมอาเซียนไว้มากที่สุด มีสาระสรุปดังนี้
ประชาคมการเมืองและความมั่นคง : มีเป้าหมายเพื่อสร้างอาเซียนให้เป็นประชาคมที่มีเสถียรภาพและสันติภาพ ปราศจากภัยคุกคามทางการทหาร และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรข้ามชาติ ส่งเสริมให้อาเซียนมีปฏิสัมพันธ์ที่แนบแน่นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลก ตลอดจนริเริ่มแนวทางในการจัดการกับความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งริเริ่มกลไกใหม่ ๆในการเสริมสร้างความมั่นคงในภูมิภาค
ประชาคมเศรษฐกิจ : มีเป้าหมายเพื่อมุ่งสู่การเป็นตลาด และเป็นฐานการผลิตเดียว ที่สามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่นได้ โดยมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ และเงินทุนอย่างเสรี ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศสมาชิกใหม่ของอาเวียน (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) เพื่อลดช่องว่างของระดับการพัฒนา และเพื่อช่วยยกระดับศักยภาพของกลุ่มประเทศเหล่านี้ในการเข้าสู่กรับวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเวียนได้ดียิ่งขึ้น
ประชาสังคมและวัฒนธรรม : เป้าหมายคือการยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกด้านให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความมั่นคงทางสังคม พร้อมรับมือกับผลกระทบอันเนื่องจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกัน มีสำนึกความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรม มีสำนึกร่วมในอัตลักษณ์ของภูมิภาค เพื่อสร้างให้เกิดสำนึกการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี มีความรับผิดชอบ อันจะนำไปสู่การสร้างให้ประชาคมอาเซียนเป็นสังคมแห่งความห่วงใยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
ทั้งสามเสานี้ล้วนมีความสำคัญต่อการเกิดประชาคมอาเซียน แต่เราเห็นว่า เสา “ประชาคมสังคมและวัฒนธรรม” เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุด ชาวอาเซียนทุกประเทศจะต้องสร้างเสานี้ให้มั่นคงเสียก่อน เสาอื่น ๆ จึงจะมั่นคงได้