แม้จะไม่ประกาศล็อกดาวน์ปิดเมือง ปิดประเทศ ยังเปิดช่องให้ทำมาหากิน และท่องเที่ยวได้ตามวิถีปกติใหม่ แต่ผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็ยังน่าห่วง เมื่อหันไปดูสถานการณ์ “วัคซีน” ป้องกันพิษเศรษฐกิจไทยแล้ว แม้จะรัฐจะเร่งฉีดให้ จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่คราวของการระบาดรอบแรก แต่การระบาดรอบนี้ ที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ยอมรับว่า ศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงกว่ารอบแรกนั้น ก็ยังเป็นเรื่องที่น่าห่วง ข้อมูลสถานภาพหนี้ครัวเรือนปี 2563โดยนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า พบว่ามีสูงถึง 483,950 บาทต่อครัวเรือนขยายตัวสูงถึงร้อยละ 42.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 12 ปีนับจากปี 2552 โดยปัจจัยที่ทำให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นขาดรายได้เนื่องจากถูกออกจากงานและรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่ายซึ่งหอการค้าไทยประเมินการสำรวจกลุ่มตัวอย่างดังกล่าวพบว่ายังเป็นการก่อหนี้ใหม่สูงมากกว่าร้อยละ70 เป็นผลมาจากการเกิดโรคโควิด-19 เศรษฐกิจไม่ดีและมีหนี้เพิ่มเยอะขึ้นสำหรับปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเกิดปัญหาชำระหนี้มาจากปัญหาเศรษฐกิจไม่ดีค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้รายได้ที่รับลดลงและการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 “ห่วงภาวะเศรษฐกิจของประเทศ โดยหลังจากนี้ 3 เดือน หากการดูแลควบคุมการระบาดของโควิด-19 ไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม จะยิ่งมีผลต่อการจ้างงานหรือการปลดคนงาน โดยขณะนี้อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 2 หากมีตัวเลขการว่างงานเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลกระทบทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ” อีกด้านหนึ่ง นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย(อีคอนไทย)ยอมรับว่า ผู้ประกอบการต้องปรับแผนรองรับกับการกลับมาของโควิด-19 อย่างรัดกุมมากขึ้น โดยเฉพาะการลดต้นทุนรอบด้าน ดังนั้นโอกาสการจ้างงานใหม่จะมีต่ำมาก ยกเว้นธุรกิจที่มีการเติบโตได้ดีในช่วงโควิด-19 เช่น อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ที่มีโอกาสจะฟื้นตัวเล็กน้อยจากปีก่อนหลังแนวโน้มโลกเริ่มมีวัคซีน เป็นต้น โดยเด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาในระบบ 5 แสนคน จึงนับเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมเพราะการหางานจะยากยิ่งขึ้น “ ปี 2563 เด็กจบใหม่ราว 5 แสนคน มีการดูดซับแรงงานไปกว่าแสนคนเท่านั้น เมื่อมีเด็กจบใหม่ที่จะเข้ามาอีกในปี 64 อีกราว 5 แสนคน ก็จะยิ่งสมทบให้อัตราการว่างงานของไทยเรามีมากขึ้น โดยในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว ยังคงลำบากเพราะต่างชาติคงจะไม่ได้เข้ามาและคงนิ่งไปจนถึงกลางปี 64 จากนั้นจึงต้องไปดูสถานการณ์อีกครั้ง ส่วนส่งออกแม้จะดีขึ้นตามทิศทางของโลก แต่ก็จะเปราะบาง ปัญหาแรงงานของไทยจึงยังคงเปราะบางมากขึ้น โดยปัจจัยเอื้อน้อยมากเพราะกำลังการผลิตส่วนใหญ่ก็ยังเหลืออยู่ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องประคองตัวเองไว้ให้ดีสุด" ทั้งนี้ ผลกระทบการแพร่ระบาดในรอบแรกนั้นมีการล็อกดาวน์ ประมาณ 3 เดือน มองในแง่ของเม็ดเงินเฉพาะเอกชนที่หายไป มีมูลค่าราว 5 ล้านล้านบาท อาทิ มาจากการท่องเที่ยวต่างชาติหายไป 2 ล้านล้านบาท การท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 5 แสนล้านบาท ส่งออกหดตัวประมาณ 6.7% เม็ดเงินหายไปอีกราว 5.1 แสนล้านบาท คนตกงานทำให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น 7 แสนกว่าล้านบาท เป็นต้น แต่ครั้งนี้ผลกระทบยังประเมินได้ยากเพราะสถานการณ์เพิ่งเริ่มต้น จะมากน้อยอยู่ที่การควบคุมการแพร่ระบาดได้ช้าเพียงใด เราเห็นว่า การเร่งจำกัดการแพร่ระบาด ให้สถานการณ์สงบลงโดยเร็ว หรือคลี่คลายในเร็ววัน จึงเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ ในขณะที่การปล่อยให้เกิดกิจกรรมเสี่ยง อาจทำให้การแพร่ระบาดยาวนานไปถึงกลางปีหน้า แม้จะเป็นเรื่องพูดง่าย แต่ทำยาก กระนั้นผู้บริหารสถานการณ์ไม่ามีทางเลือกอื่น ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการสร้างสมดุลให้การรักษาสุขภาพและเศรษฐกิจเดินไปพร้อมกัน ท่ามกลางกับระเบิดโควิด