ไม่เกินความคาดหมายนัก เมื่อผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ธันวาคม 2563 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า อยู่ที่ 50.1 ลดลงจาก 52.4 ในเดือนพฤศจิกายน โดยดัชนีความเชื่อมั่น ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 43.5 จาก 45.6 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 47.5 จาก 50.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ 59.2 จาก 61.6
ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 50.1 เป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่เดือน กันยายน 2563 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในเดือนนี้ และถือว่าดัชนีฯ อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่ สิงหาคม 2563
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงอีกครั้ง และอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน ทำให้คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายอย่างมากตลอดในไตรมาส 1/64 จนกว่าสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศไทยจะคลี่คลายลง ซึ่งต้องติดตามผลสัมฤทธิ์ของการควบคุมการระบาดไวรัสโควิดรอบใหม่ของรัฐบาลในช่วงไตรมาส 1-2 นี้ ว่าจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยได้มากน้อยเพียงใด ประกอบกับสถานการณ์ทางการเมืองของไทยจะดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร เพราะปัจจัยทั้ง 2 ตัวนี้ มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ปัจจัยลบ ได้แก่ ความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ที่เป็นวงกว้างและรวดเร็ว ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน การทำธุรกิจ และ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการต่างๆ, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 64 จาก 3.6% มาที่ 3.2% จากสถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เปิดรับได้จะจำกัดกว่าที่ประเมินไว้
อีกทั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในไทยส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, การส่งออกและการนำเข้าของไทยเดือนพ.ย.63 ลดลง ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 52.59 ล้านเหรียญสหรัฐ และในช่วง 11 เดือน เกินดุลการค้ารวม 23,512.97 ล้านเหรียญสหรัฐฯ, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก, ผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงกังวลรายได้ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่ปัจจัยบวก ได้แก่ กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้า พร้อมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 หดตัวที่ 6.6% ดีกว่าที่ประเมินไว้ จากเดิมที่หดตัว 7.8%, ภาครัฐดำเนินมาตรการ ประกอบด้วยโครงการ"คนละครึ่ง" "เราเที่ยวด้วยกัน" "ช้อปดีมีคืน" และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงปลายปี
กระนั้น การสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนธันวาคม 2563 นี้ดำเนินการในช่วงก่อนที่รัฐบาลจะประกาศมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิดที่แบ่งพื้นที่ตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่พื้นที่ จึงคาดว่าแนวโน้มดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะ 1-2 เดือนข้างหน้าจะปรับลดลงต่ำกว่าเดือนธันวาคม2563และมีโอกาสจะลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์มากกว่าที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือน เมษายน 2563 ที่ช่วงนั้นมีการประกาศล็อกดาวน์และเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมการระบาดภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่าสถานการณ์โควิดรอบใหม่ อาจจะคลี่คลายลงได้ภายในช่วงปลายไตรมาสแรกปีนี้ หากมาตรการควบคุมการระบาดทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจก็พร้อมจะเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี การแก้ไขปัญหาจะต้องตรงจุดลงไปในพื้นที่ที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาด เพราะผลทางจิตวิทยาจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ติดเชื้อว่าจะลดลงได้เร็วเพียงใด และการระบาดจะกระจายพื้นที่ครอบคลุมไปมากน้อยแค่ไหน
เราคาดหวังว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะคลี่คลายลงโดยเร็ว ขณะที่การเยียวยาและฟื้นฟูสามารถกระตุ้นให้ความเชื่อมั่นกลับมาได้ และเร่งฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง และค่าครองชีพของประชาชน