ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ 2564 เป็นช่วงที่มีการระบาดหนักของเชื้อไวรัสโควิด-19 การดำเนินมาตรการกึ่งปิดเมือง และขอความร่วมมือ โดยในช่วงหยุดยาวปีใหม่ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ขอให้คนไทยงดเดินทางออกนอกจังหวัดโดยไม่จำเป็น พยายามอยู่บ้าน ฉลองปีใหม่กับครอบครัว งดฉลองคนหมู่มาก และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
กระนั้นข้อมูลจากศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 พบว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ” (29 ธันวาคม2563 - 4 มกราคม 2564) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,326 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ นครนายก นราธิวาส น่าน แม่ฮ่องสอน ระนอง อำนาจเจริญ และอุตรดิตถ์ จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (115 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงราย (18 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ (117 คน)
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 33.60 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 33.06 พฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด ได้แก่ ไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 59.33 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 25.09 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.54 รถปิคอัพ ร้อยละ 6.19 ส่วนใหญ่เกิดบน เส้นทางตรง 65.77 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.80 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.00 - 20.00 น. ร้อยละ 27.45
โดยเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้ว ปีนี้มีรายงานว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิต มากกว่า 19 ราย
ขณะที่นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ ระบุว่า ตลอด 7 วันที่มีการควบคุมเข้มงวด ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2563 – 4 มกราคม 2564 มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติจากสำนักงาน คุมประพฤติทั่วประเทศ 117 แห่ง มีจำนวนทั้งสิ้น 4,648 คดี จำแนกเป็นคดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 4,435 คดี คิดเป็นร้อยละ 95.42 คดีขับเสพ จำนวน 193 คดี คิดเป็นร้อยละ 4.15 คดีขับรถประมาท จำนวน 20 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.43 จังหวัดที่มีคดีขับรถในขณะเมาสุราสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ 1. จังหวัดสุรินทร์ จำนวน 415 คดี 2. จังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน 365 คดี และ 3. จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 349 คดี
อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่าเมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีที่เข้าสู่ระบบงานคุมประพฤติ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 พบว่า คดีขับรถในขณะเมาสุรา มีจำนวนลดลงถึง 7,562 คดี คิดเป็นร้อยละ 63 จากการตรวจสอบประวัติการกระทำผิดย้อนหลัง 3 ปี พบมีผู้กระทำผิดซ้ำในคดีขับรถในขณะเมาสุรา จำนวน 203 ราย และมีผู้กระทำผิดซ้ำในฐานความผิดเดียวกันจากช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2563 จำนวน 18 ราย นอกจากนี้ ยังตรวจพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำในคดีขับเสพ อีกจำนวน 9 ราย
อย่างไรก็ตาม นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบปริมาณคดีความผิดเข้าสู่การพิจารณาศาลชั้นต้นทั่วประเทศในเทศกาลปีใหม่ 2563 พบว่า ปริมาณคดีช่วงปีใหม่ 256 4 ลดลง 15,924 คดี หรือร้อยละ 62 ส่วนในกลุ่มศาลเยาวชนและครอบครัวนั้นมีจำนวนคำร้องที่เข้าสู่การตรวจสอบลดลง 240 คำร้องเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว อาจจากการระบาดระลอกใหม่โรคโควิด-19 รัฐบาลออกมาตรการคุมเข้มการเดินทางในหลายพื้นที่ รวมถึงการคุมเข้มร้านค้าในการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ และประชาชนลดการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้สถิติคดีปีนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้านำจำนวนข้อหาความผิดมาเทียบกับสถิติช่วงวันเวลาปกติของปี 2563 พบว่า มีจำนวนข้อหาที่เข้าสู่ศาลมากกว่าช่วงเวลาปกติ 4 เท่า ยังมีประชาชนกระทำผิดกฎหมายจราจรอยู่
จะเห็นได้ว่า แม้สังคมไทยจะได้อานิสงส์จากโควิดอยู่บ้าง แต่ปัญหา ยังเป็นเรื่องของการไม่เคารพกฎหมาย และปัญหาใหญ่ก็คือ การไม่มีจะกิน ที่รัฐบาลต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อรักษาลมหายใจของพี่น้องประชาชนให้เดินไปพร้อมกับความอิ่มท้อง