การประเมินความสำคัญของกระทรวงต่าง ๆ นั้น ฝ่ายกุมอำนาจบริหารบ้านเมืองมักจะมองไม่ตรงกับภาคประชาชน เช่น งานด้านงานด้านวัฒนธรรม การศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของประเทศมีความสำคัญต่อทิศทางการพัฒนาประเทศมาก แต่ฝ่ายกุมอำนาบริหารบ้านเมืองมักมองว่าเป็นกระทรวงเกรดต่ำ ให้ความสำคัญน้อยกว่ากระทรวงทางด้านเศรษฐกิจ-การทหาร
ความสำคัญของการศึกษาและสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นของตนเอง มิได้ชี้ขาดอยู่ที่ตัวรัฐมนตรีว่าการหระทรวงศึกษาธิการ แต่อยู่ที่การปฏิรูประบบการศึกษาอย่างรอบด้าน และสนับสนุนการวิจัย คิดค้นเทคโนโลยีที่เหมาะสมและเป็นของตนเอง การสร้างทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นบูรณาการร่วมกันของหลาย ๆ กระทรวง
เป็นที่ทราบกันดีว่า ทิศทางของสังคมในอนาคตจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ คือมีสัดส่วนคนสูงอายุมาก คนในวัยทำงานน้อยลง สังคมไทยคงจะเป็นสังคมคนแก่ !
ทิศทางของสังคมในอนาคตจะเป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร การเรียนรู้ตลอดชีวิต คนที่มีความรู้ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ คนที่ปรับตัวเก่ง จะมีโอกาสดีในสังคม แต่คนที่ขาดความรู้ ขาดโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ จะเสียโอกาส
ตามสถิติ “กำลังแรงงาน” ของไทย อันหมายถึง คนที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ไม่นับคนเรียนหนังสือ คนทำงานบ้านและคนชรา ปัจจุบันมีจำนวนประมาณ 39 ล้านคน คิดเป็น 58 % ของประชากร
“กำลังแรงงาน” นี้มีการศึกษาแค่ระดับประถมหรือต่ำกว่านั้น เป็นจำนวนมากถึง 53 % ถ้ามองแบบกำปั้นทุบดินก็อาจจะเห็นว่า แรงงานไทยเป็นแรงงานไร้ฝีมือมากถึง 53 % ผู้มีการศึกษาระดับประถมมิใช่จะเป็นผู้ด้อยความรู้ไปเสียทั้งหมด แต่จากตัวเลขนี้ ก็ชวนให้เป็นห่วงว่า ประชากรที่จบการศึกษาระดับต่ำ จะมีคุณภาพชีวิตอย่างไรในสังคมอนาคต
เพราะถ้ากำลังแรงงานส่วนนี้มิได้ประกอบอาชีพอิสระ ก็จะเป็นผู้ขายแรงงาน ซึ่งมีรายได้น้อย สังคมไทยในอนาคตก็จะเป็นสังคมคนจน
นักวิเคราะห์สังคมบางรายวิจารณ์แรงว่า สังคมไทยในอนาคตคือ สังคมคน แก่...จน...โง่
ไทยเราไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น...
จึงจำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษา และปฏิรูปโครงสร้างการผลิตในสังคมไทยให้สำเร็จก่อน
การศึกษาไทยจะดำเนินยุทธศาสตร์เดิมๆ อีกไม่ได้ นั่นหมายความว่า สังคมไทยกำลังต้องการนโยบายและยุทธศาสตร์ทางการศึกษาแบบมุ่งอนาคต คือการเป็นเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) การศึกษาเรียนรู้มิได้จัดอยู่แค่ในสถาบันการศึกษา แต่จะต้องทำให้คนไทย “เรียนรู้ตลอดชีวิต”
เทคโนยีสมัยใหม่สามารถช่วยให้การศึกษาแก่พลเมืองได้มาก ชวยในการเรียนรู้ไดดตลอดชีวิต ปัญหาอยู่ที่ 1. รัฐและภาคเอกชนให้ให้ความสำคัญเรื่องนี้น้อยไป 2.คนไทยจำนวนไม่น้อยไม่ใส่ใจ “เรียนรู้”