สถานการณ์วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุด สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า องค์การอนามัยโลก ได้ออกแถลงการณ์รับรองให้ใช้วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทไฟเซอร์/ไบโอเอ็นเทค เป็นการฉุกเฉินได้เป็นตัวแรก เพื่อให้รัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนา และองค์การระหว่างประเทศ สามารถจัดซื้อไปใช้ฉีดให้กับประชาชนของตนเองได้ทันที หลังตรวจสอบพบว่า วัคซีนได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพขององค์การ เอื้อประโยชน์มากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ท่ามกลางการจับตาความรุนแรงของการแพร่ระบาด ภายหลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ ที่ประชาชนออกไปเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ต่างๆ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้กระทรวงสาธารณสุข หาวัคซีนในทุกช่องทางเพื่อให้ประชาชนไทยเข้าถึงวัคซีนได้รวดเร็วที่สุด โดยกำหนดการจัดหาวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชาชนไทยในปี 2564 นี้ ซึ่งมีการดำเนินการในหลายแนวทางและถึงแม้ประเทศไทยจะได้จองซื้อวัคซีนของ AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสไปแล้วก็ตาม แต่การจองซื้อวัคซีนนี้เป็นเพียงข้อตกลงชุดแรก ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเจาะจงว่าจะทำความร่วมมือเฉพาะกับผู้ผลิตรายใดรายหนึ่ง นายกฯได้มอบนโยบายให้ สธ.เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนรายอื่นอีกหลายบริษัทและมีการกำหนดแผนการใช้วัคซีน เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์การระบาดนี้โดยเร็ว ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เจรจากับผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 ทุกรายที่ผลิตออกมาจำหน่ายแล้ว เพื่อให้ได้วัคซีนมาใช้ในช่วงที่มีการระบาดขณะนี้ ผลของความพยายามและเจรจากับผู้ผลิตวัคซีน สรุปได้ว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 วัคซีนจะถูกส่งมาถึงประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 2 ล้านชุดก่อน ได้นำเรียนผลการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนทุกรายให้นายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้ให้การสนับสนุนเต็มที่ทั้งงบประมาณ และได้สั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันทีเพื่อเร่งรัดกระบวนการจัดหาวัคซีนมาให้ถึงประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโดยเร็วที่สุด วันนี้จะมีการเจรจากันต่อ เพื่อให้ได้วัคซีนมาให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนคนไทยซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดของรัฐบาล ทั้งนี้ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกบทความวิเคราะห์เรื่อง "โควิด-19 วัคซีน ใครคือผู้สมควรได้รับวัคซีนก่อน" ระบุว่า ในกรณีที่วัคซีน เข้ามาในระยะแรก วัคซีนจะไม่เพียงพอในการให้กับคนหมู่มาก ผู้ที่สมควรที่จะได้รับวัคซีนก่อนคือผู้ที่มีความเสี่ยง หมายความว่าเมื่อติดโรคแล้วจะมีอาการรุนแรง หรือมีโอกาสที่จะติดโรคสูง จึงได้แก่ 1. กลุ่มผู้สูงอายุ โดยทั่วไปจะถือเอาอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 2. กลุ่มบุคลากรที่ทำงานดูแลรักษาผู้ป่วย สอบสวน และทุกคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับสถานที่ ที่มีผู้ป่วยผู้ติดเชื้อ 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ และเมื่อมีวัคซีนมากขึ้น จึงค่อยเพิ่มกลุ่มเสี่ยงกลุ่มอื่น ผู้มีอายุน้อย โดยเฉพาะต่ำกว่า 40 ปีลงมาและมีร่างกายแข็งแรง เมื่อติดเชื้อจะมีอาการน้อยหรือไม่มีอาการ และโรคนี้เมื่อเป็นกับเด็กอาการน้อยมาก ในเด็กจึงยังไม่มีการให้วัคซีนกันในขณะนี้ จนกว่าจะมีการรอการทดสอบการให้วัคซีนในเด็ก และมีข้อมูลการให้ที่มากพอในเด็ก ก็น่าจะเป็นกลุ่มท้าย เราควรพิจารณาว่าเราอยู่กลุ่มใด มีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด ดังนั้น แม้ความหวังเรื่องวัคซีนสำหรับประเทศไทยจะมาเร็วขึ้น แต่ปริมาณไม่ได้ครอบคลุมและเพียงพอสำหรับคนไทยทั้งประเทศ ในขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ขยายวงกว้างอย่างรุนแรงและรวดเร็ว การป้องกันตนเองจึงยังเป็นวัคซีนที่ดีที่สุดในปีนี้