รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
โรคโควิด-19 สร้างความเสียหายแบบที่ยังไม่สามารถประเมินได้ต่อชีวิตและเศรษฐกิจให้กับเกือบทุกประเทศ และก่อให้เกิดพฤติกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนไปจากเดิม และตลอดทั้งปี 2563
ที่กำลังจะผ่านไปนี้ คนไทยได้ทำความรู้จักกับคำว่า ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ที่เกิดขึ้นจาก การระบาดของโรคโควิด-19 และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับมันได้บ้างแล้ว สังเกตได้จากการที่สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอลล์ล้างมือ น้ำยาฆ่าเชื้อถึงกับขาดตลาด การเติบโตของสารพัดบริการรับซื้อ-ส่งอาหาร และส่งพัสดุสิ่งของต่าง ๆ จนทำให้บางเจ้าถึงกับต้องระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อนำมาขยายกิจการ เราเห็นคนออกจากบ้านน้อยคนที่จะไม่สวมหน้ากากอนามัย การทำงานจากที่บ้าน (Work from home) ในช่วง lock down การงดจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตวิถีใหม่ ที่จะอยู่กับมนุษย์เราไปอีกนาน จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าวัคซีนที่หลายบริษัทคิดค้นออกมานั้นใช้ได้ผลจริง
เทศกาลสงกรานต์ปี 2563 ที่ผ่านมาได้ถูกงดไปเพราะเหตุจำเป็น หลาย ๆ คนจึงหมายมั่น ปั้นมือ เก็บความต้องการฉลองไว้ต้อนรับเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ สถานการณ์การระบาดในประเทศก็ดูดีมาตลอด เราสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ให้สูงขึ้น แม้ว่าประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศจะมีการระบาดอย่างหนักหนาสาหัส เราก็ยังมองตัวเลขของประเทศไทยได้อย่างอุ่นใจ
แต่แล้วเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดก็เกิดขึ้นจนได้ ซึ่งไม่ว่าจะเกิดมาจากสาเหตุใดก็ตาม นี่สามารถเรียกได้ว่าเป็น Super Spreader ที่หนักหนากว่ากรณีระบาดที่สนามมวยเมื่อต้นปีเป็นอย่างมาก เพราะสถานที่ที่เกิดการระบาดเป็นตลาดค้าส่งอาหารทะเลใหญ่ระดับต้น ๆ ของประเทศ เราจึงเห็นการตีวงตรวจเชื้อในเขตของแรงงานต่างด้าวในหลายจังหวัด ขณะเดียวกันก็มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อชาวไทยในหลายพื้นที่ และหลายจังหวัดเริ่มกลับมา Lock down บางส่วน บางเวลา หลาย ๆ คนเริ่มวิตกกังวลว่าจะไม่ได้กลับบ้านในช่วงเทศกาลปีใหม่
เทศกาลปีใหม่ของทุก ๆ ปี มักจะถูกเรียกว่าเทศกาลแห่งความสุข เนื่องจากอากาศที่เริ่มหนาวเย็นลง มีวันหยุดหลายวัน มีวันคริสต์มาส เป็นเทศกาลที่ทุกคนจะ “ส่งความสุข” อวยพร ให้ของขวัญกัน หลาย ๆ หน่วยงานก็มีการเลี้ยงฉลอง จับของขวัญเป็นที่สนุกสนาน และที่สำคัญ เป็นอีกเทศกาลที่คนเดินทางกลับภูมิลำเนาไปหาคนที่ตนรัก
จากการคาดการณ์การจับจ่ายใช้สอยของคนกรุงเทพฯในช่วงเทศกาลปีใหม่ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (ซึ่งออกบทวิเคราะห์มาก่อนจะมีการระบาดระลอกใหม่) คาดว่าจะมีเงินสะพัดกว่า 30,500 ล้านบาท ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเกิดการ Lock down ทั้งประเทศอีกเหมือนตอนต้นปี เม็ดเงินจำนวนนี้ก็จะหายวับไปทันที ไม่ถูกจับจ่ายลงไปในท้องถิ่นต่าง ๆ
เมื่อรวมกับเทศกาลสงกรานต์ที่ถูกงดไปแล้วจึงเป็นความเสียหายอย่างมาก
แต่รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกแถลงการณ์ว่าจะดำเนินการโดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตประชาชนเป็นหลัก ในขณะที่ก็ต้องพยุงเศรษฐกิจให้รอดด้วย จนทำให้ถูกจับตามองว่าจะมีมาตรการใดออกมาในช่วงปีใหม่นี้ และจากการสำรวจของสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวข้อ “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2020” (จำนวนทั้งสิ้น 1,277 คน ระหว่างวันที่ 4-10 ธันวาคม 2563) ในเรื่องสิ่งที่กังวลว่าจะกระทบกับการวางแผนท่องเที่ยว ช่วงปีใหม่มากที่สุด คือ โรคโควิด – 19 ร้อยละ 92.71 และสิ่งที่อยากให้รัฐบาลส่งเสริมในช่วงปีใหม่มากที่สุด คือ มาตรการป้องกัน โรคโควิด – 19 เพื่อการท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ร้อยละ 76.40
ดังนั้นไม่ว่าเหตุการณ์การระบาดจะเป็นเช่นไร เราคนไทยทุกคน รวมถึงธุรกิจทุกธุรกิจก็ต้องดูแลตัวเองให้ปลอดโรคเป็นอันดับแรก และต้อง “ปรับตัว” เพื่อที่จะสามารถดำรงชีวิตและดำรงธุรกิจให้อยู่ได้
ปีใหม่ปีนี้อาจจะกร่อยไปสักนิดสำหรับหลายคน หรืออาจจะหนักหนาสาหัสสำหรับอีกหลาย ๆ คน แต่ถ้าเราร่วมมือกันไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ การสแกนแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” ก่อนเข้าสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงการไม่ปกปิดข้อมูล การแจ้งเหตุผู้ติดเชื้อ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความเหนื่อยยากของบุคลากรสาธารณสุข ถ้าการระบาดถูกควบคุมได้ ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ไขโอกาสที่เราจะกลับมาใช้ชีวิตแบบ “ปกติ” ก็มีมากขึ้นเท่านั้น