วิกฤติไวรัสโควิด ยังคงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายปี 2563และในปี 2564 จากปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จังหวัดสมุทรสาคร และกระจายไปในหลายจังหวัด จากกรณีเจ้าของแพกุ้ง ส่งผลให้มีการล็อกดาวน์จังหวัดสมุทรสาครนั้น มีการประเมินความเสียหายเบื้องต้น โดยนางอำไพ หาญไกรวิไลย์ ประธานหอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ระบุว่า เฉพาะตลาดซื้อขายอาหารทะเล ที่มีการซื้อขายต่อวันประมาณ 400-500 ล้านบาท ต้องหยุดชะงักลงทันที หากรวมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและธุรกิจอื่นๆที่ต้องปิดการให้บริการ น่าจะเกิดความเสียหายประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน แต่อย่างไรก็ตาม ความเสียหายนั้นเป็นความเสียหายเฉพาะกลุ่มที่ใช้แรงงานต่างด้าวแต่ในส่วนของโรงงานหรืออุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้แรงงานต่างด้าว ก็ไม่ได้รับผลกระทบ ขณะที่นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะดีกว่าปีนี้แน่นอน แต่ขณะเดียวกันเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดยังเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องช่วยกัน อย่างไรก็ตาม นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 63 ใหม่ เหลือติดลบ 6.3% จากเดิมที่คาดติดลบ 9.4% เพราะได้รับแรงหนุนจากมาตรการเยียวยากระตุ้น และฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ, การลงทุนของภาครัฐมีโอกาสเร่งตัวดีขึ้น, วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีความก้าวหน้ามาก, ภาคการผลิตและภาคบริการทั่วโลกฟื้นตัวหลังคลายล็อกดาวน์, เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และธนาคารกลางทั่วโลกใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สำหรับปี 64 คาดจะโตเป็นบวกได้ 2.8% แต่ยังคงมีปัจจัยลบ ได้แก่ การระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนชะลอตัว, ความเปราะบางทางการเมืองในประเทศ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุนลดลง, เงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง, ความเสี่ยงจากภัยแล้ง, ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนกระทบการส่งออก และความตึงเครียดของสหรัฐฯกับจีน นายธนวรรธน์ ยังคาดการณ์เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวกได้ในไตรมาส 2/64 จากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนแบบค่อยเป็นค่อยไป เพราะยังมีปัจจัยกดดันจากความเปราะบางของตลาดแรงงาน และภัยแล้งที่คาดรุนแรงสุดในรอบ 7 ปี ส่วนการลงทุนของภาครัฐ ขยายตัวได้ดีจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี และงบฟื้นฟูเศรษฐกิจตาม พ.ร.บ.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ยังฟื้นตัวได้ช้าตามการส่งออก และภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ส่วนหนี้ครัวเรือน แม้จะยังสูงกว่า 80% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) แต่ไม่น่ากังวล เพราะหนี้ที่เพิ่มขึ้น มาจากผลกระทบชั่วคราวจากโควิด ทำให้ประชาชนก่อหนี้เพิ่ม แต่คาดว่า จะต่ำกว่า 80% ในปี 2565 ทั้งนี้ ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบใหม่นี้จะรุนแรงกว่าการระบาดในระลอกแรก แม้การสาธารณสุขไทยจะมีศักยภาพในการรับมือ แต่สถานะทางด้านการเงินการคลังของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากระลอกแรก มีความอ่อนแอลง ในขณะที่หลายภาคส่วน ที่บอบช้ำจากระลอกแรก ที่กำลังรอการฟืนตัวอยู่ยังไม่ได้สามารถกลับมามีความเข้มแข็งมากพอ ดังนั้น จึงต้องเร่งปิดจ๊อบ จบวิกฤติสมุทรสาครโดยเร็ว เพื่อไม่ให้บาดแผลเศรษฐกิจลุกลามสร้างความเสียหาย