สถาพร ศรีสัจจัง การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย ที่จัดขึ้นในขอบเขตทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ศกนี้ พิสูจน์ซ้ำหลักการว่าด้วย “ข้อจำกัดทางประวัติศาตร์” และ “อัตวิสัยเป็นปัจจัยชี้ขาดการเคลื่อนเปลี่ยนของสิ่ง” ตามทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษของคาร์ล มาร์กซ์ อีกครั้งหนึ่ง สำหรับเรื่องนี้ กลุ่มคนที่น่าจะรู้สึกได้มากกว่าใครเพื่อนก็น่าจะได้แก่ “กลุ่มคณะก้าวหน้า” ภายใต้การนำของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มหาเศรษฐีหนุ่ม คุณปิยบุตร แสงกนกกุล ดอกเตอร์ทางกฎหมายรูปหล่อจากเมืองนอก คุณ “ช่อ” พรรณิการ์ วานิช นักการเมืองสาวสวยฝีปากดีคนนั้น และบรรดา “สหาย” แห่งเจนเนอเรชั่นใหม่ของเขาทั้งหลาย มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ทั้งฝ่ายหนุนเชียร์และฝ่ายรอกระทืบ ที่เฝ้าติดตามสังเกตว่า การประกาศสู้ในสนามท้องถิ่นอย่างเอาจริงเอาจังของกลุ่มการเมืองภายใต้การนำของ คุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไม่ว่าจะอยู่ในชื่อเรียงเสียงใด เช่น คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล หรือแม้แต่ชาว “อนาคตใหม่” ในอดีต และบรรดา “แนวร่วม” ที่เห็นด้วยในแนวทางการต่อสู้ของฝ่ายนำกลุ่มนี้ ว่าสุดท้ายจะมีผลลงเอยอย่างไร! การที่ผู้สมัครในตำแหน่งนายก อบจ.ทั้ง 42 จังหวัดภายใต้ยี่ห้อ “คณะก้าวหน้า” ไม่ได้รับเลือกตั้งเลยแม้แต่สักคนเดียว ย่อมเป็นข้อเท็จจริง (อาจจะชั่วคราว) ให้คนที่สนใจการวิเคราะห์สังคมไทยหรือปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยได้พิจารณาถึงเหตุปัจจัยถึงการที่สังคมไทยยัง “ไม่ต้อนรับ” แนวความคิดทางการเมือง ที่คณะก้าวหน้าได้นำเสนออย่างเป็นรูปธรรมและอย่าง “เอาการเอางาน” ได้อย่างเป็นรูปธรรมพอควร แม้หลังการเลือกตั้ง ผู้นำกลุ่มคือคุณธนาธรจะออกมายอมรับความพ่ายแพ้ด้วยท่วงทำนองที่น่าสนใจ แต่ก็ยังเห็นถึงท่าทีในการยืนหยัดนโยบายหลักๆของตน โดยเฉพาะในประเด็น “การโค่นล้มศักดินา” (แม้โดยรูปแบบจะบอกว่าเพราะมีเจตนาดีต่อสังคมไทย จึงต้องการเพียงจะ “ปฏิรูป” เพื่อให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่กับสังคมไทยอย่างยั่งยืนและอย่างทรงคุณค่าก็ตาม) จังหวะก้าวนี้นับเป็นเรื่องสำคัญยิ่งที่นักต่อสู้ทางการเมืองกลุ่มนี้จะต้องทำความเข้าใจ “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ในสังคมไทยให้กระจ่างลึกซึ้ง จนสามารถเห็นถึง “ความขัดแย้งหลัก” ปัจจุบันของสังคมไทยให้ได้อย่างถึงแก่น ว่าคืออะไรกันแน่? ทุนจักรพรรดินิยมหรือศักดินา? รีบเร่งหรือมีจังหวะก้าว? การวิเคราะห์สังคมไทยให้ได้อย่างถูกต้องแท้จริงเท่านั้นหรือเปล่า จึงจะทำให้รู้ว่าควรทำแนวร่วมกับใครไปตีใคร?จังหวะก้าวของการ “กินทีละคำ” คืออะไร?ฯลฯ การที่กลุ่มผลประโยชน์อื่นสามารถชูการ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์” ขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการต่อสู้อย่างค่อนข้างประสบความสำเร็จมาโดยตลอด น่าจะไม่ใช่เรื่องที่ไม่สอดคล้องกับรากฐานข้อเท็จจริงทางประสัติศาสตร์สังคมไทยเสียทีเดียวละกระมัง? หรืออันนี้จะไม่ใช่สิ่งที่นักประวัติศาสตร์สังคมฝ่ายก้าวหน้าเรียกว่า “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ถ้าจะเปรียบแนวคิดของกลุ่มคณะก้าวหน้าที่สะท้อนผ่านกลุ่มนำคือตัวบุคคล และจากเอกสาร กับนักบิดมอเตอร์ไซค์ แน่ละ ห้วงเวลาที่ผ่านจากจังหวะที่ได้รับคุณูปการจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 (ที่คณะก้าวหน้าบอกว่าเฮงซวยทุกมาตรานั่นแหละ) จนทำให้ได้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็นจำนวนมาก ทำให้กระแสพรรคพุ่งขึ้นสูงสุด ด้วยความต้องการพุ่งเข้าเส้นชัยให้เร็วที่สุด พวกเขาจึงบิดน้ำมันเร่งสปีดรถอย่างเต็มที่อย่างเปี่ยมความมั่นใจ จนแทบจะลืมนึกถึงอุปสรรคใดๆไปเสียสิ้น! และบางที “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” ที่เรียกว่า “พลังศักดินา” (ที่มีลักษณะทางอัตวิสัยจำเพาะยิ่ง)นั่นแหละ ที่กลายเป็นเหมือน “โค้งปราบเซียน” ของนักบิดมอเตอร์ไซค์ที่กำลังเพลินกับชัยชนะบางระดับของพวกตนกลุ่มนี้ ทั้งๆที่โค้งที่ว่า “ปราบเซียน” โค้งนี้ก็ไม่ได้มีเครื่องมือเครื่องไม้ที่มีพิษสงอะไรมาก อาจมีเพียงเมล็ดถั่วเขียวที่โรยไว้หนาแน่นจนทำให้นักบิดที่ทะเล่อทะล่าและประมาทศัตรูกลุ่มนี้ต้องพลิกคว่ำหงายเก๋งอย่างไม่เป็นท่าไปเท่านั้น! แต่ถ้าโค้งดังกล่าวมีการขึงลวดดักไว้ละ? อันนี้ซิน่ากลัว,จะกลัวไม่กลัวก็อาจถึงกับคอขาดเอาทีเดียวเชียวนะ,จะบอกให้! ทีนี้เห็นกันหรือยังละว่าสิ่งที่เรียก “ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์” นั้นสำคัญอย่างไร? ถ้ายังพิเคราะห์เรื่องนี้ได้ไม่แจ้ง ท่านว่า “ขบวน” อาจถึงขั้นล่มสลายและ “ตายเปล่า” เอาจริงๆนะเออ!!!