รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทุกท่านที่ติดตามผลการเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั่วประเทศในวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา วันนี้น่าจะได้ทราบผลอย่างไม่เป็นทางการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และคงได้เห็นปรากฏการณ์หลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นทั้งก่อนหน้าการเลือกตั้ง และหลังจากที่มีการนับคะแนนไปแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่มีการลงคะแนนล่วงหน้า และลงคะแนนนอกเขต ผู้ใช้สิทธิ์จำเป็นที่จะต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาไปลงคะแนนด้วยตนเองเท่านั้น และถ้าไม่สามารถไปใช้สิทธิ์ได้ก็ต้องแจ้งนายทะเบียนท้องถิ่นทราบภายใน 7 วันก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง รวมถึงผู้ที่ย้ายทะเบียนบ้านที่ยังไม่ครบ 1 ปี ก็หมดสิทธิ์เลือกตั้ง ผู้สมัครชิงตำแหน่งทั้งนายก อบจ. และส.อบจ. ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง จึงทำให้เห็นการชิงชัยกันอย่างดุเดือดในหลาย ๆ จังหวัด มีทั้งอดีต ส.ส. ที่สนับสนุนโดยพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เช่นคณะก้าวหน้า และผู้สมัครอิสระ ต่างก็เสนอนโยบายแข่งขันกันตามแนวทางของตนเองอย่างเห็นได้ชัด ความตื่นตัวของประชาชนในการใช้สิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้ก็มีมากกว่าครั้งที่แล้วอย่างชัดเจน (ประมาณร้อยละ 70) ปฏิเสธไม่ได้ว่าความตื่นตัวนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากการประกาศลงการเมืองท้องถิ่นอย่างจริงจังของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และคณะก้าวหน้า โดยประกาศปลดแอกการเมืองท้องถิ่นจากกลุ่มการเมือง “บ้านใหญ่” ของแต่ละจังหวัด และคณะก้าวหน้าก็ได้ส่งผู้สมัครในนามคณะถึง 42 จังหวัด ชูสารพัดนโยบายใหม่ ๆ ผ่านตัวแทนที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยมีจุดขายหลักคือตัวนายธนาธรเอง ที่เป็นดั่ง Political idol ของคนรุ่นใหม่ หวังจะเกิดเหตุการณ์ Land slide หรือชนะแบบถล่มทลายคล้าย ๆ กับการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อต้นปี 62 ของพรรคอนาคตใหม่ กระแสในโลกออนไลน์ก็ดังเป็นพลุแตก แต่ผลที่ออกมากลับไม่เป็นดังหวัง เพราะเหตุใด ? ดังที่ทราบ ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ คณะก้าวหน้าไม่สามารถคว้าเก้าอี้นายก อบจ. ได้เลย แม้แต่จังหวัดเดียว (ส่ง 42 จังหวัด คาดว่าได้ 10 จังหวัด และมั่นใจว่าจะได้แน่นอน 5 จังหวัด) ถึงจะได้ ส.อบจ. ในบางเขต และคะแนนเสียงในบางจังหวัดเพิ่มขึ้นมาจากการเลือกตั้งปี 62 การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้มีปัจจัยหลายอย่างที่เป็นอุปสรรคต่อคณะก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นระยะเวลา ก่อนการเลือกตั้งที่ค่อนข้างน้อย หรือการที่เป็นผู้สมัครหน้าใหม่เข้าต่อกรกับกลุ่มการเมืองเดิมที่มีรากฐานมั่นคง ในจังหวัด ย่อมทำให้เกิดความไม่มั่นใจต่อประชาชนที่จะลงคะแนนให้ หรือกลุ่มประชาชนที่นิยมคณะก้าวหน้า ส่วนใหญ่เป็นเยาวชน ก็อาจมีอายุไม่ถึง ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือไม่ได้กลับไปเลือกตั้งด้วยเหตุผลต่าง ๆ ปัจจัยที่สำคัญอีกสองอย่าง คือ การที่คณะก้าวหน้า มีความเชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมประท้วงในกรุงเทพฯ ที่ประกาศจะปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ (และต้องยอมรับว่ามีการล้อเลียนและจาบจ้วง) ซึ่งในสายตาของประชาชนคนไทยที่รักสถาบันไม่เห็นด้วย เลยพากันไม่ลงคะแนนให้ และนโยบายของรัฐบาล ที่ออกมาพอดิบพอดี (โครงการคนละครึ่ง) ซึ่งหลายภาคส่วนเห็นว่า เป็นนโยบายที่ดี เข้าถึงและช่วยเหลือประชาชน ดึงเงินออกมาให้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ก็อาจจะเป็น “ไม้ตาย” ในการเกาะกุมคะแนนเสียง จึงทำให้ คณะก้าวหน้าปราชัยอย่างยับเยินในการเลือกตั้งครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ความพ่ายแพ้นั้นไม่จีรังเสมอไป หากคณะก้าวหน้ามีความตั้งใจจริงในการปฏิรูปสังคมไทย ก็ต้องอดทน ก้าวผ่านความผิดหวัง วิเคราะห์และแก้ไขจุดอ่อนของตนเอง เพื่อให้ชนะใจคนไทยให้ได้สักวันหนึ่ง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่จะ “ชนะ” ทุกครั้งทุกครา หรือ “แพ้” อย่างย่อยยับตลอดกาลหรอกครับ นี่เป็นความเชื่อส่วนตัว อย่าเชื่อทั้งหมดนะครับ !