ข้อมูลของศูนย์ปฏิบัติการสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว พบว่าสถิติของผู้กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ในช่วงเดือน ตุลาคม 2562 -เมษายน 2563 มีจำนวน 141 ราย แบ่งออกเป็นความรุนแรงทางร่างกาย ร้อยละ 87 ทางเพศ ร้อยละ 9 และทางจิตใจ ร้อยละ 4 ส่วนปัจจัยกระตุ้น ได้แก่ ยาเสพติด ร้อยละ 35 บันดาลโทสะ ร้อยละ 33 หึงหวง ร้อยละ 25 สุรา ร้อยละ 17 เท่ากับการล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 17 อาการจิตเภท ร้อยละ 9 และจากเกม ร้อยละ 2 ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ภาคกลาง อีสาน ใต้ เหนือ และ กทม. ตามลำดับ ขณะที่สถิติความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559-ถึงเมษายน 2563 พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นคิดเป็น 1,400 ราย/ปี หรือ 118 ราย/เดือน เฉลี่ย 4 ราย/วัน อีกด้านหนึ่ง ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส. เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีสถิติความรุนแรงต่อผู้หญิงสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากรายงานของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC : United Nations Office on Drugs and Crime) พบว่า กว่า 87% ของคดีการล่วงละเมิดทางเพศไม่เคยถูกรายงานเพื่อหาผู้กระทำผิด หรือให้ทางการรับรู้ ปัญหาเหล่านี้ถูกซุกไว้ใต้พรม 1 ใน 3 ของผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงมีมากกว่าตัวเลขที่ได้รับรายงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นถึง 66% ภาคใต้ มีความรุนแรงในครอบครัวถึงร้อยละ 48.1 และกรุงเทพฯ พบความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุด ร้อยละ 26 ซึ่งปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงในครอบครัว ได้แก่ รายได้ของครอบครัว และการใช้สารเสพติด เช่น สุรา บุหรี่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ในมุมองของ ศ.(พิเศษ)จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวในตอนหนึ่งของการเสวนา รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จัดโดยกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าเป็นเพราะสังคมไทยรู้ถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัวแล้ว แต่ยังไม่ตระหนักถึงภัย ประกอบกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ที่ถูกแทนที่ด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ.2562 แต่ถูก พ.ร.ก.ยับยั้งและให้ใช้กฎหมายเดิมพรางไปก่อน เพื่อรอให้กระทรวง พม.มีความพร้อมซึ่งอาจใช้เวลา 5-10 ปี เหล่านี้ได้ทำให้กฎหมายเสมือนอยู่ในไอซียู ผลปรากฏว่าความรุนแรงในสังคมในปัจจุบันเพิ่มขึ้น เพราะความรุนแรงเริ่มต้นตั้งแต่ในบ้าน ดังนั้นจึงควรทบทวนกลับมาใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ที่จะเน้นเรื่องเยียวยาผู้เสียหาย บำบัดผู้กระทำ และการมีมาตรการทางอาญา พร้อมกันนี้ ศ.(พิเศษ)จรัญ ยังเชิญชวนทุกฝ่ายมาแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ตั้งแต่ภาคประชาชนในการไม่ใช้ความรุนแรง ร่วมเฝ้าระวังแจ้งเหตุเพื่อยับยั้งตั้งแต่เหตุการณ์เล็กๆ ขณะที่หน่วยงานรัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่นต้องช่วยกัน โดยมี พม.ช่วยขับเคลื่อนและรณรงค์ให้มากขึ้น ว่าความรุนแรงในครอบครัวเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ทำสื่อรณรงค์ที่เข้าถึงใจคน ขยายการเฝ้าระวังความรุนแรงในครอบครัว ไปยังโรงเรียน สถานที่ทำงานต่างๆ รวมทั้งการกลับมาใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงฯ ก็เชื่อว่าจะยับยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวได้ เราเห็นว่า หากทุกฝ่ายทั้งภาคประชาชน และภาครัฐร่วมมือกันอย่างจริงจัง ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวก็จะสามารถลดลงได้ ควบคู่ไปกับการสร้างภูมิคุ้มกันทางด้านจิตใจที่ต้องเร่งสร้างเสริมกันตั้งแต่วัยก่อนอนุบาลเพื่อป้องกันปัญหาอย่างยั่งยืน