ช่วงกลางปีที่ผ่านมาสำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมขององค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น เปิดเผยรายงาน “Sustainable Development Goals Report 2020” คาดการณ์จำนวนประชากรที่เผชิญกับปัญหาความยากจนขั้นรุนแรงทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำสถิติเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รายงานระบุว่า อัตราความยากจนขั้นรุนแรงคาดว่าจะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ ปี2541 ซึ่งในขณะนั้นอัตราความยากจนขั้นรุนแรงเพิ่มขึ้น 0.4% สู่ระดับ 29.7% หลังเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย (วิกฤติต้มยำกุ้ง) โดยเริ่มจากประเทศไทยและส่งผลกระทบไปทั่วภูมิภาค ทั้งนี้ ยูเอ็น คาดว่า อาจมีประชากรทั่วโลกถึง 71 ล้านคนต้องถูกผลักดันให้กลับเข้าสู่ภาวะความยากจนขั้นรุนแรงในปีนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้สร้างความเสียหายอย่างเลวร้ายที่สุดต่อระบบเศรษฐกิจนับตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำปี 2562 พบว่า สัดส่วนคนยากจนลดลงจากร้อยละ 9.85 ในปี 2561 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.24 ในปี 2562 หรือมีคนจน 4.3 ล้านคน ลดลงจาก 6.7 ล้านคนในปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแนวโน้มของความยากจนระหว่างปี 2541-ถึงปัจจุบัน สัดส่วนและจำนวนคนจนมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนคนยากจน 25.8 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 38.63 ในปี 2541 ลดลงเหลือ 11.6 ล้านคน หรือร้อยละ 17.88 ในปี 2552 และลดลงเหลือ 4.3 ล้านคน หรือร้อยละ 6.24 ในปี 2562 ปัจจัยที่ทำให้การปรับตัวลดลงของคนจนในปี 2562 เกิดจากการขยายความครอบคลุมมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐปี 2562 โดยเฉพาะโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยโดยตรง โดยปี 2562 มีผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาจากปี 2561 ที่มี 11.4 ล้านคน จากการที่รัฐบาลเปิดการลงทะเบียนรอบพิเศษ (พ.ค.-มิ.ย.61) สำหรับกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้ที่ไม่ได้ลงทะเบียนรอบก่อนหน้า โดยผู้ที่มีบัตรจะได้รับการช่วยเหลือด้านภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันรายเดือน ได้แก่วงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น 200-300 บาท/เดือน ค่าเดินทางระบบขนส่งสาธารณะวงเงินรวมสูงสุด 1,500 บาท/เดือน และค่าก๊าซหุงต้ม 45 บาท/3 เดือน อีกทั้งคนยากจนบางส่วนยังได้รับการเงินช่วยเหลือจากโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และคนพิการ และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด อย่างไรก็ตาม แม้สัดส่วนคนจนปี 2562 จะมีแนวโน้มลดลง แต่การรักษาระดับสัดส่วนคนจนให้อยู่ในระดับต่ำยังต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยประสบกับภาวะวิกฤตโควิด-19 ซึ่งส่งผล กระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นวงกว้าง และยังมีความไม่แน่นอนว่าการแพร่ระบาดจะต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์ความยากจนปี 2563 กลับไปแย่ลงอีกครั้ง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัญหาเร่งด่วนของประเทศไทย ที่ต้องให้ความสำคัญคือปัญหาความยากจนหลังวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง และขจัดอุปสรรคต่างๆที่จะขัดขวางการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคอร์รัปชั่น และการสร้างบรรยากาศที่ไม่เหมาะสมกับการลงทุน และแม้การช่วยเหลือและเยียวยายังคงจำเป็นอยู่ และต้องคู่ขนานไปกับการสอน “วิธีจับปลา”