“ ก็ประชาชนเขาไม่เลือกไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องแล้วแต่ประชาชน ส่วนจะทำให้ม็อบลดลงหรือไม่นั้นผมไม่ทราบต้องไปถามประชาชน” “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์สื่ออย่างอารมณ์ดี เมื่อถูกถามถึงการเลือกตั้งนายกองค์กรส่วนจังหวัด (อบจ.) เมื่อวันที่ 20ธ.ค.ที่ผ่านมาแต่ไม่มี ผู้สมัครของคณะก้าวหน้าไม่ได้เลยสักที่นั่งเดียว ! ความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ซึ่งประเดิมสนามแรกกันที่การเลือกตั้งสมาชิกและนายก อบจ.ทั้งสิ้น 76 จังหวัด ยกเว้นพื้นที่กทม. ไม่เพียงแต่จะทำให้ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า และ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” รวมถึง “พรรณิการ์ วานิช” ถูกจับตามองและตั้งคำถามเท่านั้น แต่ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น ยังทำให้เอฟเฟกซ์ลามไปถึง “พรรคก้าวไกล” รวมถึง “ม็อบราษฎร” ที่กำลังสะท้อนว่า แท้จริงแล้ว กระแสและความนิยมในโลกแห่งความเป็นจริง นั้น “สวนทาง” กันอย่างสิ้นเชิง ! คณะก้าวหน้า ที่มีธนาธร ถือธงนำ ได้ส่งผู้สมัครลงสนามเลือกตั้งสมาชิกและนายกอบจ.ทั้งสิ้น 42 จังหวัด แต่ผลที่ออกมา อย่างไม่เป็นทางการ จากการเปิดเผยของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. ชี้ออกมาว่า ไม่มีผู้สมัครที่สังกัดคณะก้าวหน้าได้รับเลือกตั้งเลยสักที่นั่งเดียว แน่นอนว่า ผลออกมาในรูปการณ์เช่นนี้ ย่อมทำให้ฝ่ายตรงข้าม กับคณะก้าวหน้า ซึ่งมีแนวร่วมอย่างพรรคก้าวไกล และม็อบราษฎร ที่พากันเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง แต่ในที่สุด ก็กลายเป็นว่า ทุกความเคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งในและนอกสภาฯ บนท้องถนน โดยเฉพาะจากม็อบราษฎร กลับไม่เป็นผลดี เมื่อต้องเจอกับ การเมือง “สนามจริง” เมื่อม็อบราษฎร ชูข้อเรียกร้องที่ล่อแหลม ทั้งการขับไล่ “บิ๊กตู่”พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม รวมถึงการประกาศเดินหน้า “ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” ด้วยท่าที แข็งกร้าว หยาบคายและจาบจ้วง ล้วนแล้วแต่กลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหยิบไปใช้โจมตีผู้สมัครจากคณะก้าวหน้า ด้วยมีแนวร่วมกลุ่มปกป้องสถาบันพากันเดินสาย ติดตามไปขับไล่ เปิดเพลงหนักแผ่นดิน กดดันธนาธรและคณะ ที่เดินสายไปช่วยผู้สมัครหาเสียงแทบทุกพื้นที่ ที่ส่งผู้สมัครของคณะก้าวหน้าลงสนาม แน่นอนว่าการเลือกตั้งสนาม อบจ. ครั้งนี้ มีความสลักสำคัญไม่น้อยเพราะนี่คือภาพสะท้อนการเมืองที่มีความเข้มข้น ในยามที่สถานการณ์การเมืองภาพรวม ภาพหลักกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งอย่างรุนแรง ในยามที่สังคมอยู่บนความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ระหว่าง “รัฐบาล” กับ “ฝ่ายค้าน” ระหว่าง “คนรักสถาบัน” กับ “กลุ่มล้มล้างสถาบัน” ! ด้วยเหตุนี้การต่อสู้ในสมรภูมิศึกเลือกตั้ง อบจ. รอบนี้ นอกจากคณะก้าวหน้า ที่พยายามเปิดหน้าชิงฐานการเมืองระดับท้องถิ่น ไม่สำเร็จแล้ว หลายคนเชื่อว่า ธนาธรเอง จะได้เรียนรู้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว การเดินหน้าที่เชื่อมโยงไปกับม็อบราษฎร ที่ประกาศตัวล้มล้างสถาบัน และการไม่มีฐานเสียงเดิมจากระดับท้องถิ่น นั้นย่อมมีผลที่สะท้อนกลับมาชัดเจน น่าสนใจว่า ชัยชนะจากสนามเลือกตั้งอบจ. ได้เทไปที่พรรครัฐบาล ทั้ง “พรรคพลังประชารัฐ” และ “พรรคภูมิใจไทย” ที่อาศัยความได้เปรียบจากฐานการเมืองเดิม พ่วงกับกระแสที่ตอบโจทย์ให้ความต้องการของประชาชน คือ “จุดแข็ง” ที่ฝ่ายรัฐบาลกำลังแสดงให้เห็นถึงความเหนือชั้น ในยกแรก !