ช่วงปลายปี 2563 ประชาชนคนไทยต้องเผชิญศึกสองด้าน ทั้งจากภัยฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ที่กลับมาสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศ และสุขภาพเป็นประจำและหนักหนาสาหัสขึ้นทุกปี กับภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลับมาพร้อมกับพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เกี่ยวเนื่องกับ จ.สมุทรสาคร กระจายทั้งใน จ.สมุทรสาคร และจังหวัดอื่นๆ เช่น สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ โดยได้มีการล็อกดาวน์ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร และอำเภอใกล้เคียงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยมีการตั้งจุดตรวจจุดสกัด ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเข้า-ออกนอกพื้นที่ ข้อมูลจากนพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ ประจำที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า “การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในที่ร่ม (indoor) ในบ้าน ในอาคาร ในผับ บาร์ ร้านอาหาร ในรถ เรือ เครื่องบิน ในสนามกีฬาในร่ม ในสนามบิน และสถานที่ต่างๆ ที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ มากกว่าในที่กลางแจ้ง (outdoor) มีการศึกษายืนยันว่าคนรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่ร่ม (indoor) มากกว่าในที่กลางแจ้ง (outdoor) ถึง 18.7 เท่า และโอกาสการรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในที่กลางแจ้งน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 10 เพราะฉะนั้นถ้าอยู่ในที่ร่มกับคนจำนวนมากจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน เราควรอยู่ในที่กลางแจ้ง ปลอดภัยกว่าอยู่ในที่ร่ม เพราะพื้นที่กว้าง อากาศถ่ายเทดี มีลม แสงแดด เราไม่ต้องไปกลัวฝุ่น PM 2.5 มากเกินไป เราสามารถทำกิจกรรมออกกำลังกาย เช่น เดิน วิ่ง ปั่นจักรยาน ตีเทนนิส ตีกอล์ฟ เล่นฟุตบอล ว่ายน้ำ ดำน้ำ ไปชายหาด พายเรือ เล่นเรือ ออกไปปิกนิก กินอาหารในร้านอาหารกลางแจ้ง โดยมีความเสี่ยงรับเชื้อไวรัสโควิด-19 น้อยมากโดยเฉพาะเมื่ออยู่ห่างกันเกิน 2 เมตร บางกิจกรรม เช่น กีฬาทางน้ำ ว่ายน้ำ ทานอาหาร ดื่มน้ำ ใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้อยู่แล้ว ตีกอล์ฟ หรือเล่นกีฬาที่เหงื่อออกมาก ไม่จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยก็ได้ แต่ถ้าต้องอยู่ใกล้ชิดกับคนอื่น เว้นระยะห่าง 2 เมตรไม่ได้ ถึงจะอยู่ที่กลางแจ้ง ก็ควรใส่หน้ากากอนามัย ต้องระวังเมื่อรวมตัวกับคนจำนวนมาก เช่นออกมาชุมนุมในที่กลางแจ้งในตอนเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน โดยอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่สามารถเว้นระยะห่าง 2 เมตร มีคนตะโกนส่งเสียง และบางคนไม่ใส่หน้ากาก โอกาสรับเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสูงขึ้น ในกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ถ้ารักประเทศไทย ไม่อยากเห็นการระบาดรอบที่ 2 เพราะความเสียหายทางเศรษฐกิจระลอกสองจะตามมา ขอให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย” คำเตือนจากนพ.มนูญ ย่อมหมายรวมถึงการจัดกิจกรรมในช่วงปีใหม่ เช่น เคาท์ดาวน์ ที่เบื้องต้นผู้จัดมีการยกเลิกการจัดงานเคาท์ดาวน์เองแห่ง แม้จะไม่ได้มีสั่งห้ามออกมา แต่ภายใต้สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ก็ทำให้ผู้จัดเหล่านั้นไม่ต้องการเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือ ความเสี่ยงในการระบาดระลอกสอง ที่มีตัวอย่างในประเทศเยอรมัน ประชาชนอดฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ เพราะรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ฉะนั้น ประเทศไทยจึงเหมือนเดินมาถึงทางแยก ระหว่าง “เคาท์ดาวน์” หรือ “ล็อกดาวน์”