ใกล้สิ้นปี ที่ถือเป็นช่วงสุดท้ายที่รัฐบาลได้พยายามกระตุ้นการท่องเที่ยว และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน โดยได้ปรับปรุง “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” ทั้งเพิ่มจำนวนการจองห้องพัก ขยายระยะเวลาโครงการฯ รวมทั้ง สนับสนุนค่าเครื่องบินจาก 2,000 บาท เป็น 3,000 บาท ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยว พร้อมปรับลดกรอบวงเงินโครงการฯ เหลือ 15,000 ล้านบาท จาก 20,000 ล้านบาท และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ที่มีเป้าหมายให้สิทธิอีก 5,000,000 คน ที่จะได้รับสิทธิเพื่อรับเงินเพิ่มอีก 500 บาทต่อคน ให้เต็ม 3,500 บาท อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจความคิดเห็นของ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “คนไทยกับการท่องเที่ยวส่งท้าย ปี 2020” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,277 คน สำรวจระหว่างวันที่ 4 – 10 ธันวาคม 2563 พบว่า พฤติกรรมการท่องเที่ยวของคนไทยในปี 2020 ที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด คือ ไปเที่ยวอย่างระมัดระวังตัวมากขึ้น ร้อยละ 83.56 ค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวตลอดทั้งปีประมาณ 10,001 - 20,000 บาท ร้อยละ 26.17 สิ่งที่อยากให้รัฐบาลส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่นี้ คือ มีมาตรการป้องกันโควิด-19 เพื่อเที่ยวอย่างปลอดภัย ร้อยละ 76.40 จังหวัดที่คนไทยจะไปเที่ยวมากที่สุด คือ เชียงใหม่ ร้อยละ 31.67 โดยสิ่งที่จะกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่คือ โควิด-19 ร้อยละ 92.7 ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ปี 2564 ต้องอาศัยการใช้จ่ายและการบริโภคในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหนี้ครัวเรือนและกำลังซื้อ เป็นปัจจัยที่ทำให้ความสามารถในการใช้จ่ายของประชาชนลดต่ำลง ซึ่งปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือน มีความยากในการแก้ไขปัญหา เนื่องจากต้องแยกรายละเอียดในการใช้จ่ายของแต่ละกลุ่มคนแบบละเอียดและชัดเจนจริงๆ ว่าหนี้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ความสามารถในการจ่ายของแต่ละคนเป็นอย่างไร โดยเรื่องดังกล่าวต้องมีการแก้ไข และต้องหามาตรการออกมารองรับ ซึ่งก็ต้องหารือกันต่อไป ทั้งนี้ หนี้ครัวเรือน อัตราส่วนที่เพิ่มสูงขึ้น ถือว่าสอดคล้องกับจีดีพี แต่ว่าต้องพิจรณาไส้ในของหนี้ครัวเรือนว่า มีหนี้ไม่ก่อรายได้ หรือหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) อยู่ในสัดส่วนที่เท่าใด ซึ่งขณะนี้เอ็นพีแอลของหนี้ครัวเรือน อยู่ที่ 3% ซึ่งถือว่าไม่ได้มีควมน่ากังวลมากนัก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะสบายได้ จึงต้องหาทางแก้ไขปัญหาในระยะสั้น และระยะยาวต่อไป เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังกล่าวว่า การหามาตรการมาเพื่อแปลงหนี้ครัวเรือน ที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดจากการบริโภคเป็นหลัก อาทิ หนี้บัตรเครดิต ซึ่งต้องหาทางทำให้แปลงหนี้เหล่านี้ให้เป็นนี้ระยะยาว เพื่อให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น โดยจะต้องพิจารณาคุณภาพลูกหนี้ของแต่ละบุคคล ไม่สามารถทำทั้งหมดได้ เพราะคนที่มีวินัยทางการเงิน ต้องได้รับความช่วยเหลือ แต่คนที่ไม่มีวินัยทางการเงิน ก็ไม่ควรที่จะได้รับความช่วยเหลือ ซึ่งการแก้ไขในระยะยาว จะต้องสร้างวินัยทางการเงินให้กับประชาชนทุกคนต่อไป ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทางในการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่าย และเป็นหนี้ได้ง่ายขึ้น อาทิ โปรโมชั่นลดแลกแจกแถมต่างๆ หรือการผ่อนชำระแบบดอกเบี้ย 0% ถือเป็นการกระตุ้นให้คนอยากซื้อ ทั้งที่ไม่ได้มีความสามารถในการใช้จ่ายจริง ซึ่งหากถามในกลุ่มของคนที่มีวินัยทางการเงิน ก็จะไม่ซื้อของที่อิงกับความอยาก เพราะจะมองเรื่องความสามารถในการใช้จ่ายจริงเป็นหลัก ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งกินทั้งเที่ยวที่ออกมานั้น จำเป็นต้องคู่ขนานไปกับวินัยทางการเงิน สร้างสมดุล และโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่อประคับประคองให้ผ่านพ้นวิกฤติความยากจน