ผลพวงจากการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของคสช.ทำให้บรรดากองเชียร์บิ๊กตู่ติดอกติดใจ อยากสืบทอดอำนาจ ผ่านกลไก ส.ว.กลับมาเป็นนายกฯหลังเลือกตั้ง ขณะที่ฝ่ายนักการเมืองท้าให้ตั้งพรรคลงเลือกตั้ง ตามรอยบิ๊กสุ บิ๊กบังและอินทรีย์บางเขน ผู้สร้างตำนาน “โรคร้อยเอ็ด”
ถ้าเป็นไปตามโรดแมปฉบับปรับปรุงล่าสุด การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2560 ขณะนี้เหลือเวลา 1 ปี 4 เดือน
มากพอสำหรับการเตรียมพร้อมของนักการเมืองคร่ำหวอด แต่น้อยไปสำหรับนักการเมืองหน้าใหม่ โดยเฉพาะที่มาจากสายทหาร
เพราะถ้าไม่ใช้เส้นทางลัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจรัฐ อำนาจเงิน แบบที่”อินทรีย์บางเขน”พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ทำรัฐประหารซ้อนปี 2520 ผู้สร้างตำนาน “โรคร้อยเอ็ด” แล้ว เห็นจะสู้นักการเมืองมืออาชีพไม่ได้
แม้จะยังเหลือเวลาอีกนาน แต่บรรยากาศยามนี้กลับคึกคัก เข้าสู่โหมดโหมโรงก่อนเลือกตั้ง
บรรดากองเชียร์ ไม่ว่าจะสายสภาแต่งตั้ง สายทหารแก่ สายอำนาจนิยม ฯลฯ พากันออกข่าว ออกโพล กันถี่ยิบหวังสร้างความชอบธรรมในการมีนายกฯคนนอก
วันนี้กับยุคหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และรัฐประหารครั้งหลังๆ บรรยากาศการเมืองไทยแม้จะต่างกันเมื่อวัดด้วยอารมณ์ร่วม
แต่ก็อยู่ในสภาพตกอยู่ภายใต้เทอดเงาของทหาร
ที่ความรู้สึกลึกๆ ดูคล้ายกับว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีไว้สำหรับคนมีบารมีสูง โดยเฉพาะที่เป็นนายพล
กงกำและกงเกวียนยังหมุนเวียนซ้ำรอยรอบวงล้อแล้ว รอบวงล้อเล่า
ย้อนไปครั้งพลเอกเกรียงศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร จนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้เมื่อปี 2021 ได้ตั้งพรรคชาติประชาธิปไตย
หลังเลือกตั้งปี 2522 ได้รับการแต่งตั้งให้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งด้วยกลไก ส.ส.กับ ส.ว.แต่งตั้ง รวมกันโหวตหาตัวนายกฯ
กลไกนี้ กำลังจะมีการจำลองรูปแบบมาประยุกต์ใช้หลังการเลือกตั้งปีหน้า
พลเอกเกียงศักดิ์ รู้สึกว่าเป็นการ”สืบทอดอำนาจ” ที่ไม่สง่างาม
จนเมื่อนายสมพร จุรีมาศ แห่งพรรคกิจสังคม ส.ส.ร้อยเอ็ดในขณะนั้นถึงแก่กรรม ทำให้ต้องเลือกตั้งซ่อม 2524
ขณะนั้น พลเอกเกียงศักดิ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกฯหลังแพ้โหวตกรณีขึ้นราคาน้ำมัน และสภาฯเลือกพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ รมว.กลาโหมขณะนั้นเป็นนายกฯแทน
พลเอกเกรียงศักดิ์ถือโอกาสนี้ลงสนามเพื่อลบภาพอดีตนายกรัฐมนตรีลากตั้งและเพื่อสืบสานการเมือง
มีการใช้อำนาจรัฐอย่างเต็มที่ ใช้บารมี ใช้เงินทุ่มเทกันสุดเหวี่ยง เพราะเป็นสงครามวัดบารมี ที่พลเอกเกรียงศักดิ์จะแพ้ไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องขับเคี่ยวกับตัวแทนพรรคกิจสังคมคือ พ.ต.ท.บุญเลิศ เลิศปรีชา รองหัวหน้าพรรค
ครั้งนั้นถึงกับ พลตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมยกขบวนขึ้นไปช่วยหาเสียง แบบทัวร์นกขมิ้น เอารถบ้านลากไปนอนพักทุกหมู่บ้านในพื้นที่
ทีมงานพลเอกเกรียงศักดิ์จึงต้องระดมพลครอบคลุมทุกตารางนิ้ว ทุ่มเท ทุ่มทุนกันมหาศาล
ข้าราชการพลเรือน ข้าราชตำรวจ ยืนแจกซองแก่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงอย่างไม่ระคายสายตาประชาชน
เห็นกันจะจะตา ถ่ายรูปแล้วนำไปแจ้งความ ก็ไม่รู้ว่าจะแจ้งความกับใคร เพราะตำรวจหายไปทั้งโรงพัก
คำนวณกันว่า ครั้งนั้นมีการใช้ทุนรอนถึงราว 80 ล้านบาทกลายเป็นที่มาของคำว่า “โรคร้อยเอ็ด”
แต่แม้ประชาชนจะรักกิจสังคม รัก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทว่าก็เข้าตำรา “รักแท้แพ้เงินตรา”
พลเอกเกรียงศักดิ์ชนะมาอย่างท่วมท้น แต่ก็สะบักสะบอม
ผลพวงจากโรคร้อยเอ็ด ทำให้ต่อมามีการกำหนดกติกาการใช้จ่ายในการเลือกตั้งให้แต่ละคนใช้ได้ไม่เกิน 350,000 บาท
ความขาดแคลนผู้มีบารมีสูงพอที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้หลังเลือกตั้งปี 2526 หลังพลเอกเปรมยุบสภาฯ ที่แม้พรรคประชาธิปัตย์จะชนะเลือกตั้ง แต่ก็ไม่มีใครกล้าขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ต้องเอาพลเอกเปรมมาเป็น นายกฯอีกรอบ กลายเป็นรูปแบบของนายพลนอกราชการในอันที่จะลัดฟ้ามานั่งเก้าอี้นากรัฐมนตรี
เป็นเช่นนี้มาถึง 3 สมัย และทำท่าจะเป็นสมัยที่ 4 เมื่อพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้ง ปี 2531 พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ(ยศขณะนั้น) ไม่กล้าเป็นนายกฯเองเช่นกัน
ไปขอพลเอกเปรมมาเป็นอีก แต่พลเอกเปรมปฏิเสธ ในที่สุด ตัวเองต้องรับเป็นนายกฯเสียเอง
แต่ก็นั่นหละ เป็นได้ 3 ปีเมืองไทยก็กลับสู่วงจรอุบาทว์ น้าชาติถูกทหารทำการรัฐประหารอีกครั้ง
การเมืองไทยกลับมาสู่วังวนแห่งการสืบทอดอำนาจของทหารอีกครั้ง
เมื่อผู้สนับสนุนพลเอกสุจินดา คราประยูร ใช้กลไก ส.ส.ผนึก ส.ว.ได้รับโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งปี 2535
แต่อยู่ได้แค่ 47 วันก็ถูกพลตรีจำลอง ศรีเมือง พาม็อบมาขับไล่จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
จากนั้น นักการเมืองอาชีพอย่างนายชวน หลีกภัย ที่เคยเอาตำแหน่งนายกฯไปประเคนให้ป๋าเปรมก็กล้าเป็นนายกฯ
ทั้งนี้ หลังเลือกตั้ง 2535 ปชป.ชนะอีก นายชวน เห็นสัจธรรมของการลากคนมีบารมีนอกการเมืองมาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วว่า เป็นต้นตอโรคประชาธิปไตยภูมิต้านทานต่ำ
จึงตัดสินใจเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง
ครั้งนั้น ได้ดึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร(ยศในขณะนั้น) เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
ถือเป็นการเปิดตัวชีวิตการเมืองของทักษิณ
การเมืองเริ่มมั่นคง เข้ารูปเข้ารอย ประชาธิปไตยเริ่มเต็มใบ
แต่นายชวนก็ไม่สามารถประคองตัวอยู่ได้ครบเทอม เมื่อเกิดปัญหาในสภาฯจนต้องยุบสภาฯ ทั้งๆที่เหลือเวลาแค่ 9 เดือนจะครบเทอม
ประชาธิปไตยเต็มใบกลายเป็นมรดกตกทอดมสู่ทักษิณที่ สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ครบเทอม เป็นหนแรกในประวัติศาสตร์
ทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทย แบบโตแล้วเรียนลัด ด้วยการกวาดต้อนพรรคที่เคยได้คะแนนเสียง ระดับรองๆจากพรรคปชป.เข้าคอกหมด
ไม่เว้นแม้แต่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคความหวังใหม่
แต่เพราะใช้นโยบายประชานิยมจนชนะเลือกตั้งเทอมที่ 2 อย่าท่วมท้น
เป็นที่กังวลว่าทักษิณจะผูกขาดการเมืองระบบเลือกตั้งเสียจนไม่มีใครแทรกได้
ทักษิณจึงถูกทำรัฐประหารอีกราย
แม้จะชนะเลือกตั้งหลังรัฐบาลรัฐประหารจากไป แต่รัฐบาลนอมินีทักษิณก็ไปได้ไม่ไกล
ถูกกระบวนการล้มระบอบทักษิณ รุกฆาตเป็นวิบากกรรมมาจนบัดนี้
ขณะนี้ ขบวนการสนับสนุนพลเอกประยุทธ์สืบทอดอำนาจ กำลังเดินหน้าอย่างคึกคัก
จะสำเร็จหรือล้มเหลว แบบไหน ต้องย้อนกลับไปดูภาพในอดีตเป็นบทเรียน