ทวี สุรฤทธิกุล คณะราษฎรนั่นเองที่บิดเบือนประชาธิปไตย กล่าวอย่างตรงไปตรงมา เป้าหมายจริงๆ ของคณะราษฎรน่าจะเป็นเพียงการเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบกษัตริย์มาสู่ “ระบอบของคณะราษฎร” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวก “เบื่อเจ้า” โดยมีการแตกแยกความคิดเห็นออกไปได้เป็น 2 พวก คือ พวกที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงแบบ “สิ้นซาก” กับพวกที่เพียงแค่ให้เปลี่ยนแปลงแล้วค่อยแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่าง “ละมุนละม่อม” พวกที่ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงแบบสิ้นซากคือพวกที่มีการวางแผนมาตั้งแต่การตั้งกลุ่มคณะราษฎรนี้ขึ้นที่กรุงปารีส ซึ่งนำโดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรม สิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความต้องการนี้ก็คือชื่อของคณะเปลี่ยนแปลงการปกครองที่ชื่อว่า “คณะราษฎร” นั่นเอง ซึ่งจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่นักวิชาการหลายคนให้ข้อสรุประบุตรงกันว่า บุคคลกลุ่มนี้มีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนจากระบอบกษัตริย์มาเป็น “ระบอบของราษฎร” อย่างแน่นอน เพียงแต่ไม่กล้าเปิดเผยความจริงว่าระบอบราษฎรที่ว่านี้คืออะไร โดยใช้คำว่า “ประชาธิปไตย” แบบเหมารวม ในความหมายของการปกครองที่มีประชาชนเป็นใหญ่ ในขณะที่มุ่งเน้นคำอธิบายในแนวสังคมนิยม ได้แก่ การเน้นย้ำอุดมคติเรื่องความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียม และโจมตีความเหลวแหลกของระบอบเจ้า ดังที่เคยเกิดขึ้นในฝรั่งเศส พ.ศ. 2332 และรัสเซีย พ.ศ. 2460 ซึ่งพวกที่ล้มกษัตริย์ในทั้งสองประเทศนี้ก็ใช้ถ้อยคำเพื่อการโฆษณาชวนเชื่อแบบเดียวกันนี้ ผู้เขียนได้อ่านคำให้สัมภาษณ์ของพระยาพหลพลพุหเสนา หัวหน้าคณะเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่ให้สัมภาษณ์นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ ในหนังสือ “เบื้องหลังการปฏิวัติ 2475” จับใจความได้ว่า ความคิดของผู้คนในสังคมไทยที่ “ไม่ชอบเจ้า” นั้นมีปรากฎอยู่ทั่วไป แต่แสดงออกไม่ได้ ซึ่งตัวท่านเองก็อยู่ในกลุ่มนี้ด้วยคนหนึ่ง เหตุผลก็คือพวกเจ้าที่มาคุมทหารไม่ยอมฟังเสียงหรือคำแนะนำของนายทหารในระดับล่างๆ ทั้งยังดูเหมือนจะมีการทุจริต และกระทำในลักษณะ “ยกตนข่มท่าน” อยู่เสมอ อย่างครั้งหนึ่งพระยาพหลฯในฐานะที่ดูแลทหารปืนใหญ่มีความขัดแย้งกับเสนาบดีกลาโหมซึ่งเป็นเจ้านายผู้ใหญ่ด้วยเรื่องที่เสนาบดีจะซื้อปืนใหญ่ฝรั่งเศส แต่พระยาพหลฯไม่เห็นด้วยเพราะล้าสมัยและมีกลิ่นทะแม่งๆ ในการไปตกลงกันมาก่อน อีกทั้งฝรั่งเศสก็เป็นคู่อริของไทยอยู่กลายๆ ที่ยึดครองดินแดนต่างๆ ของไทยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยพระยาพหลฯเชื่อว่าฝรั่งเศสต้องการทำให้กองทัพไทยอ่อนแอด้วยการขายอาวุธที่ล้าสมัยและไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าว พระยาพหลฯให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องการเข้าร่วมกับคณะราษฎรว่า เริ่มต้นด้วยกลุ่มทหารที่มีพระยาพหลฯกับพระยาทรงสุรเดชเป็น “ต้นความคิด” และมีการรวมกลุ่มกันอยู่ก่อนแล้วภายในกองทัพ ดังเหตุผลที่ได้เกิดความขัดแย้งกับ “คณะเจ้า” (ผู้เขียนใช้คำนี้ตามนัยที่พระยาพหลฯตั้งเป็นประเด็นในการให้สัมภาษณ์ในครั้งนั้น)นั้นส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งที่ท่านและนายทหารกลุ่มนี้อยากเห็นประเทศชาติเปลี่ยนแปลงในทางที่เจริญก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ รวมถึงความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงตัวระบอบกษัตริย์ไปสู่ระบอบรัฐสภานั้นด้วย วันหนึ่งใน พ.ศ. 2474 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองสักปีเศษ น้องชายของพระยาพหลฯที่เป็นนายทหารเช่นกันได้แนะนำให้ท่านรู้จักกับนายประยูร ภมรมนตรี ที่เป็นแกนนำอีกคนหนึ่งของกลุ่มนักเรียนนอกในประเทศฝรั่งเศส ครั้นได้รู้จักกันก็ทราบว่ามีแนวคิดตรงกัน นายประยูรจึงได้วางแผนให้นายทหารต่างๆ ที่มีพระยาพหลฯเป็นผู้นำนี้ไปประชุมที่บ้านนายประยูรเพื่อพูดคุยแผนการต่างๆ ให้มั่นใจ โดยในการประชุมแต่ละครั้งมีการตั้งรหัสให้รู้กันเฉพาะผู้ร่วมประชุม ซึ่งจำกัดจำนวนอยู่ระหว่าง 7 – 8 คน รวมถึงให้เอาไพ่ไปวางบนโต๊ะประชุม เพื่อให้คนอื่นที่อาจจะมาเห็นให้เข้าใจว่าเป็นกันชวนกันมาเล่นไพ่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้มาเข้าร่วมประชุมในครั้งท้ายๆ เพื่อกล่าวถึงแผนการในการพัฒนาบ้านเมืองภายหลังหากยึดอำนาจได้สำเร็จ ส่วนการกำหนดแผนการและวันเวลาที่จะยึดอำนาจนั้นมีพระยาทรงสุรเดชเป็นผู้คิดการ โดยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ถึง 3 ครั้ง ก่อนที่จะมีการยึดอำนาจจริงๆ ในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าการยึดอำนาจจะสำเร็จได้ง่ายดายเช่นนั้น แม้แต่ตัวพระยาพหลฯเองก็ได้สั่งเสียกับภรรยาในตอนหัวค่ำของคืนวันที่ 23 ว่าคงจะไม่มีชีวิตรอดหรอก แต่เมื่อตั้งใจแล้วก็ต้องทำ อย่างไรก็ตามภายหลังที่ยึดอำนาจสำเร็จ ก็มีการจัดตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาให้เป็นนายกรัฐมนตรี และเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีเป็นประธานรัฐสภา นัยว่าขุนนางผู้ใหญ่ทั้งสองท่านนี้เป็น "คนกลาง" ที่อาจจะสามารถเชื่อม “พวกเจ้า” เข้ากับ “พวกราษฎร” นี้ได้ ซึ่งการไม่ได้เป็นไปตามที่คณะราษฎรคิดไว้เลย โดยเฉพาะพระยามโนฯที่เริ่ม “แข็งข้อ” อยู่เป็นระยะๆ อย่างในกรณีที่หลวงประดิษฐฯเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจ คณะรัฐมนตรีที่นำโดยพระยามโนฯก็ตีให้ตกไป โดยไม่ได้ให้เหตุผลในรายละเอียดที่ชัดเจน แต่เป็นที่ทราบกันว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ดังที่กล่าวมาในสัปดาห์ที่แล้ว) และอีกส่วนหนึ่งนั้นก็คือการลุกขึ้นมาต่อต้านของพระมโนฯนั้นเอง ภายหลังที่เค้าโครงเศรษฐกิจฯล้มไปแล้ว ในสภาผู้แทนราษฎรได้มีการนำเรื่องนี้ไปอภิปรายกันโจมตีรัฐบาลรวมถึงที่มีส่วนกระทบถึงพระเจ้าอยู่หัว นำโดย ส.ส.ในกลุ่มของหลวงประดิษฐฯ ที่สุดรัฐบาลโดยพระยามโนฯก็ได้ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภา จากนั้นในวันรุ่งขึ้นก็ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ทำให้หลวงประดิษฐฯต้องลี้ภัยหลบหนีออกจากนอกประเทศเป็นครั้งแรกและเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองคนแรกของไทย!