วันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม 2563 นี้ เป็นวันสำคัญอีกวันสำหรับประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายกอบจ.และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือส.อบจ. ที่ถือเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปี หลังรัฐประหาร และเป็นการเลือกตั้งครั้งใหญ่ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ จำนวน 7,852 แห่ง ทดแทนนายกอบจ.และส.อบจ.จำนวน 97,940 ตำแหน่ง ซึ่งทยอยหมดวาระแต่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 1/2557 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่สำคัญอบจ. เป็นการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่สุด แต่มีภารกิจสำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้แก่คนในท้องที่ จึงมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยนายก อบจ. เป็นฝ่ายบริหารกำหนดนโยบาย จัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด ขณะที่ ส.อบจ. ทำหน้าที่เหมือนฝ่ายนิติบัญญัติ ออกข้อบัญญัติที่ใช้ในท้องถิ่น เช่น การจัดการขยะ ประปา, ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาท้องถิ่น ให้ความเห็นชอบงบประมาณ และตรวจสอบและควบคุมการปฏิบัติงานของผู้บริหารท้องถิ่น อยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี ติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ และในการเลือกตั้งครั้งนี้ ประชาชนจะต้องใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกนายกอบจ. และอีกใบเลือกส.อบจ. ในเชิงการเมือง การเลือกตั้งนายกอบจ.และส.อบจ.มีความสำคัญ ถือเป็นการวัดฐานคะแนนเสียงของพรรคการเมืองในจังหวัดนั้นๆ แต่ก็พบว่าไม่ทุกพรรคที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการว่า ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง แต่ในพื้นที่ประชาชนทราบดีว่า เป็นคนของใคร ในขณะที่บางพื้นที่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือด และเป็นศึกศักดิ์ศรี กระทั่งก่อให้เกิดรอยร้าวในป้อมค่ายเดียวกันก็มี ทำให้มีกระแสข่าวว่า ในบางจังหวัดผู้สมัครที่เป็นคู่แข่งต่างทุ่ม “กระสุนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นเงินเกิน 9 หลัก อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบรรยากาศการเมืองใหญ่ กลบกระแสความสนใจการเมืองเล็กเสียสนิท ทำให้มีความกังวลเรื่องความตื่นตัวของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องด้วยการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้า จัดขึ้นเพียงวันเดียวคือวันที่ 20 ธันวาคม 2563 เพียงเท่านั้น แต่ขยายเวลาการเปิดให้ลงคะแนนเลือกตั้งกันตั้งแต่เวลา 08.00-17.00น. เพื่อให้ประชาชนมีเวลาออกมาใช้สิทธิมากขึ้น ขณะเดียวกันการเมืองใหญ่ ก็ส่งผลให้บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้ง มีความดุเดือด และเต็มไปด้วยวิชามารต่างๆ การใส่ร้ายป้ายสีคู่แข่ง การทำลายป้ายหาเสียง และการบรรยากาศที่แกนนำของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่ด้วยปฏิกิริยาต่างๆ กระนั้น เราเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งนายกอบจ. และส.อบจ.จะมีประชาชนให้ความสนใจไปใช้สิทธิเป็นจำนวนมาก และเป็นหูเป็นตา ไม่ให้ความร่วมมือในการกระบวนการทุจริต เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใส ได้ผู้บริหารและสมาชิกสภาอบจ. ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน