"ขอบคุณที่ให้ความใส่ใจ ผมไม่ต้องเตรียมตัวอะไร เราทำงาน คนที่จะอภิปรายผมนั้นต้องพิจารณาตัวเอง เดี๋ยวผมสวนกลับบ้างจะหนาว ส่วนเรื่องคดีเก่าๆนั้น ได้เข้าสู่กระบวนยุติธรรมไปแล้ว มันไม่ต้องพูด ไม่ต้องประชาสัมพันธ์อะไร ผลงานมันชัดเจน เราไปทำงานให้ชาวบ้าน" (15 ธ.ค.63)
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์สื่อ เมื่อถูกถามกรณี ที่ "พรรคฝ่ายค้าน" เตรียมยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งร.อ.ธรรมนัส เก็งข้อสอบว่าตัวเองน่าจะโดนซักฟอกในประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องที่ดิน สปก.ที่เอื้อประโยชน์นายทุน ด้วยความเชื่อมั่นว่าคงไม่ต้องเตรียมตัวอะไร แถมยัง "ขู่กลับ" ว่าคนที่อภิปรายอาจจะ "มีหนาว" แทน !
เช่นเดียวกันกับที่เมื่อวันก่อน เมื่อ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งบอกกับสื่อในท่วงทำนองเดียวกันว่า "ไม่ใช่คนใจอ่อน" ไม่ได้หวั่นไหว อะไร ?
เกมที่พรรคฝ่ายค้านวางเอาไว้ โดยถึงขั้นประกาศ "จองคิว" เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ชนิดข้ามปี เพราะเชื่อว่า สถานการณ์ของ "รัฐบาล" กำลังเป็นฝ่าย "เพลี่ยงพล้ำ" ต่อเกมการเมืองทั้งบนท้องถนน และในสภาผู้แทนราษฎร ในคราวเดียวกัน
ดังนั้น การที่วางเกมยาว ประกาศเตรียมซักฟอกรัฐบาล โดยหวังที่จะจับตั้งหัวขบวน ตั้งแต่ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ ไปจนถึง รัฐมนตรีที่อยู่ในข่ายสุ่มเสี่ยง เป็น "จุดอ่อน" เพื่อหวังว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะมีขึ้นภายในสมัยประชุมนี้ จะทำให้ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐนาวา ถึงขั้นสั่นคลอน ได้รับบาดเจ็บให้มากที่สุด
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยพรรคฝ่ายค้าน ที่ได้ส่งสัญญาณใช้เวทีสภาฯ "เชือด" ครม.ทั้งคณะ โดยจะเลือกชำแหละ ในจุดอ่อนรอบนี้ อาจส่งผลทำให้บรรยากาศทางการเมือง เข้าสู่จุดเดือดขึ้นมา แตกต่างไปจากครั้งที่ผ่านๆมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ กำลังเผชิญศึกที่ประชิดถึงหน้าประตูป้อมค่าย เมื่อ "ม็อบราษฎร" เองก็ประกาศแล้วว่า ในปีหน้า 2564 การชุมนุมจะทวีความเข้มข้นมากขึ้น จะเรียกว่าเป็นการลากเกมยาว ก็คงไม่แปลก เพราะเวลานี้ฝ่ายแกนนำม็อบราษฎร เองประเมินแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ และโดยเฉพาะ "ฝ่ายความมั่นคง" ไม่สามารถ "เอาอยู่" ตลอดระยะเวลาช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ฝ่ายผู้ชุมนุมเปิดเกมรุกไล่ อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังหยิบยกประเด็นที่มีความเปราะบาง ล่อแหลม นั่นคือการเสนอข้อเรียกร้องให้ "ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์" ไปจนถึงการแสดงออกถึงท่าทีก้าวร้าว จาบจ้วง ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จนเกิดความขัดแย้งไปทั่วทุกหัวระแหง
การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ น่าสนใจว่า รัฐบาลและโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวพล.อ.ประยุทธ์ เองอาจไม่ได้รับมือเฉพาะประเด็นที่ว่าด้วยการเมืองเท่านั้น หากแต่โอกาสที่ "ฝ่ายค้าน" จะผสมโรง ดึงความขัดแย้ง และข้อเรียกร้องที่ว่าด้วยการปฏิรูปสถาบัน เข้าสู่สภาฯ ในคราวเดียวกันด้วยได้หรือไม่
ยิ่งเมื่อยามนี้ สถานการณ์การเคลื่อนไหวของ ม็อบราษฎร กำลังเข้าสู่ภาวะ อ่อนล้า แกนนำม็อบถูกแจ้งความดำเนินคดี กันอย่างต่อเนื่อง หมายความว่าการยืนระยะขับไล่รัฐบาล โจมตีสถาบันอยู่นอกสภาฯ คงต้องปรับโหมด เปลี่ยนรูปแบบเสียที !