ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับประมาณการตัวเลขเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปี 2563 จะขยายตัวดีขึ้นที่ ติดลบ 6.7% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 10% จากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล ขณะที่ตัวเลขการส่งออก เติบโตดีขึ้นที่ติดลบ 7% จากคาดการณ์เดิมที่ติดลบ 12% โดยการส่งออกยังมีทิศทางการฟื้นตัวช้าจากปัจจัยกดดันทั้งในเรื่องเงินบาทที่มีแนวโน้มหลุด 30 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปี 2564 มองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวเป็นบวก ที่ระดับ 2.6% โดยมีแรงหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ ทั้งการบริโภคและการลงทุน แต่อัตราการเติบโตของจีดีพียังถือว่าไม่สูงมากนัก สะท้อนภาพของความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจโลกในปีหน้า อย่างไรก็ตาม นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในระหว่างงานสัมนา “เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย” เมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมาจัดโดยสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยถือว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและถือว่าฟื้นตัวได้ดีและเร็วกว่าที่คาดไว้หลังจากที่คลายล็อกดาวน์ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าได้ทำให้จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะติดลบประมาณ 7% ก็คาดว่าจะติดลบลดลงเหลือ 6% เท่านั้น อย่างไรก็ตามแม้ทุกฝ่ายจะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเวลาที่ประเทศไทยจะเริ่มได้รับวัคซีนโควิด-19 ล็อตแรกประมาณกลางปี 2564 แต่จากวันนี้จนถึงวันที่ได้วัคซีนยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก เช่น ความเสี่ยงที่อาจจะมีการแพร่ระบาดระลอก 2 ในประเทศซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจ หรือแม้กระทั่งหากมีการแพร่ระบาดในบางพื้นที่ที่เป็นจังหวัดท่องเที่ยวก็อาจจะกระทบกับการฟื้นตัวของท่องเที่ยวที่เริ่มดีขึ้นได้ สำหรับปัจจัยอื่นๆที่สศช.มีความเป็นห่วงนอกจากเรื่องโควิด-19 มีอยู่ 3 ปัจจัยได้แก่ 1.การว่างงานซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ในระยะต่อไปการว่างงานจะเพิ่มขึ้น เห็นจากชั่วโมงการทำงานของแรงงานที่เริ่มลดน้อยลง โดยปัจจุบันเริ่มเห็นระยะเวลาการทำงานของแรงงานลดลงจากเฉลี่ย 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เป็น 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 2.อัตราหนี้ครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยปัจจุบันปรับขึ้นมาอยู่ที่ 83.8% ต่อจีดีพี ซึ่งนอกจากกระทบกำลังซื้อของประชาชน ยังจะเป็นปัญหาสังคมในระยะต่อไปได้ และ 3.ปัจจัยเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากไทยมีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง แม้จะมีการเกิดโควิด-19 มากขึ้นแต่ก็มีเงินทุนไหลเข้า มีการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาโดยตลอด ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนมีน้อยมากเนื่องจากการลงทุนใหญ่ๆที่มีการนำเข้าเครื่องจักรหรือสินค้าทุนที่นำเข้ามาเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายจับตามองก็คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ใช้ได้ผล โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่งนั้น ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เป็นที่นิยมและยังจำเป็นจะต้องกระตุ้นต่อไป หากแต่จะต้องตีอยอดมาตรการต่างๆ เพื่อประคับประคองให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวอื่นๆ ขับเคลื่อนไปได้ และสร้างเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ มาชดเชยการท่องเที่ยวที่อาจจะยังซึมยาว เพราะพิษโควิด