คอลัมน์ สยามรัฐผลัดใบ
ดร. วิชัย พยัคฆโส
[email protected]
ควันหลงจากความสำเร็จของนักกีฬาโอลิมปิคที่บราซิล ได้ส่งอานิสงส์ให้ประเทศไทยติดอันดับโลกด้านกีฬาแม้ว่าได้มาเพียง 6 เหรียญก็ตามยังดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน ถือเป็นความสำเร็จและก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์การกีฬาของไทย โดยเฉพาะผลพวงที่ได้จากโรงเรียนกีฬาที่จัดตั้งขึ้น
จากผลลัพท์ของโรงเรียนกีฬาที่ชัดเจน จึงทำให้รัฐบาลโดยเฉพาะท่าน รมต.ว่าการกระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยว สนับสนุนและผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยกีฬาแห่งชาติในปีหน้า เป็นนิมิตหมายที่ดีของมหาวิทยาลัยจะมีน้องใหม่ที่จะทำหน้าที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศได้มากยิ่งขึ้น จึงขอสนับสนุนแนวคิดให้เกิดได้จริงๆ
ณ วันนี้มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับจากรัฐบาลว่าจะสามารถช่วยพัฒนาศักยภาพเสริมรองรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยมหาวิทยาลัยหลักของประเทศต่างพร้อมที่จะสร้างมหาวิทยาลัย 4.0 ร่วมมือกับรัฐบาลในการพัฒนากำลังคน และสร้างนวัตกรรมร่วมกับชุมชนและผู้ประกอบการ โดยจะมีงบประมาณสนับสนุนการวิจัยของประเทศถึง 1% ของจีดีพี หรือไม่น้อยกว่า 120,000 ล้าน เพิ่มมากกว่าเดิมถึงเท่าตัวในปีงบประมาณหน้า และยังจะแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็นกลุ่มวิจัย กลุ่มอาชีพเฉพาะทางและกลุ่มพัฒนาชุมชน โดยแบ่งภาระกันให้ชัดเจนและมุ่ง area based ไม่ซ้ำซ้อนกัน
ยิ่งไปกว่านั้นมหาวิทยาลัยจะมีโอกาสเข้าไปร่วมพัฒนาจังหวัด โดยอยู่ในแผนจัดหวัดในยุคจังหวัด 4.0 เช่นแผนจังหวัดร้อยเอ้ด (ร้อยเอ็ด 4.101 โมเดล) ที่จะจัดตั้งวิทยาเขตร้อยเอ็ดของ มทร.อีสาน ไปช่วยพัฒนาทุ่งกุลาร้องไห้ ให้เป็นแหล่งเกษตรชีวภาพ และเพิ่มมูลค่าของข้าวหอมมะลิให้เป็นสินค้าระดับโลก
ดูเหมือนรัฐบาลยอมรับว่ามหาวิทาลัยจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นที่พึ่งของสังคมได้ นโยบายความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย หรือ นโยบาย “ประชารัฐ” จึงเป็นมาตรการที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศเข้าสู่เป้าหมายได้
นโยบายล่าสุดจะย้อนกลับไปใช้ระบบ entrance เหมือนในอดีต ให้นักเรียนเลือกได้ 4 แห่ง โดยใช้ข้อสอบกลางอย่างเดียว จะงดการสอบตรงที่ให้นักศึกษาวิ่งรอกไปสอบกันทั่วประเทศ โดยจะเริ่มใช้ในปี 2561 น่าจะเป็นระบบที่ประหยัดและได้นักศึกษาที่มีคุณภาพจากข้อสอบรวมจากส่วนกลางของประเทศ เพียงแต่มาตรฐานและคุณภาพของการจัดการศึกษาของส่วนภูมิภาคโอกาสจะเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาจะมีน้อยกว่าโรงเรียนในเมืองใหญ่ๆ
จากนโยบายหลายๆ อย่าง น่าจะเป็นมาตรการที่จะใช้ทั้งอาจารย์มหาวิทยาลัยมาร่วมพัฒนานวัตกรรม และอุดมศึกษาจะพัฒนากำลังคนไปรองรับกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ให้ได้คุณภาพตามเป้าหมายมากยิ่งขึ้นเพียงแต่การจัดสรรงบประมาณให้มหาวิทยาลัย น่าจะต้องปรับการใช้ระดับหรือซีลลิ่งของงบประมาณเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ มาเป็นการพิจารณาจากยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่จะสนองตอบนโยบายของรัฐมากน้อยเพียงใด จะเป็นปัจจัยหลักอีกทางหนึ่งที่จะเป็นแรงบันดาลใจของสถาบันอุดมศึกษา