จากปรากฏการณ์ที่เปิดเผยขึ้น เช่น การโจรกรรมทางคอมพิวเตอร์ขโมยเงินจากตู้เอทีเอ็มของธนาคารออมสินไปสิบกว่าล้านบาทอย่างง่ายดาย นี่เป็นตัวอย่างที่เปิดเผยขึ้นภัยคุกคามความมั่นคงของชาติด้านข้อมูลสารสนเทศด้านอื่น ๆ จะเกิดขึ้นบ้างแล้วหรือไม่ อาจจะมี แต่ไม่เปิดเผย  ประเทศไทยต้องตื่นตัวด้านนี้ เพราะ “สงครามเย็นยุคใหม่” จะต่อสู้กันในโลกคอมพิวเตอร์ ! การก่อการร้ายจะโจมตีจุดสำคัญที่เป็นหัวใจของชาติโดยไม่จำเป็นต้องมีกำลังทางทหาร ด้วยการใช้สื่อดิจิทัล (Digital media) และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic-driven tool) โดยภัยคุกคามดังกล่าวนี้จะเป็นภัยคุกคามที่มีผลกระทบในระดับนานาชาติ อำนาจด้านสื่อและ ICT ถูกถ่ายโอนจากภายใต้ความควบคุมของภาครัฐสู่ภาคประชาชน จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามและผู้ที่ไม่หวังดีต่อชาติมีเครื่องมือที่มีขีดความสามารถ มีทางเลือกในการปฏิบัติมากขึ้นและซับซ้อนขึ้น และที่สำคัญสามารถปฏิบัติการจากที่ใดก็ได้ในโลก  รูปแบบของสงครามและความมั่นคงได้เปลี่ยนไปอย่างมาก โดยเห็นได้อย่างชัดเจนหลังสงครามอ่าวเปอร์เซีย สหรัฐอเมริกาได้ตระหนักว่าต้องปรับเปลี่ยนหลักนิยมไปสู่การสู้รบโดยใช้องค์ความรู้และปัญญามากกว่าการใช้อาวุธและกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลพวงจากเหตุการณ์ในวันที่ 11 กันยายน 2544 ทำให้หลายประเทศเห็นว่ามหาอำนาจในยุคโลกาภิวัตน์มิใช่ประเทศที่มีพลังทางทหารเพียงอย่างเดียว หากยังเป็นบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีความสามารถก่อความเสียหายได้เท่าๆกับการทำสงครามอีกด้วย บทเรียนดังกล่าวทำให้ประจักษ์ว่าความรู้และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้บุคคลมีพลังไม่ต่างกับประเทศมหาอำนาจในการทำลายล้าง นี่เองคือจุดเปลี่ยนของรูปแบบของสงครามหรือมีผู้รู้บางท่านเรียกว่า “สงครามรูปแบบใหม่” นั่นเอง            เหตุการณ์และแนวโน้มที่เกิดขึ้นเหล่านี้ได้ตอกย้ำถึงแนวรบที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน โดยถือว่าเป็น “ภัยคุกคามรูปแบบใหม่” ของชาติ ที่มีสาเหตุหนึ่งมาจากการขาดการควบคุมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของชาติ และการขาดวิสัยทัศน์ในการวางยุทธศาสตร์ความมั่นคงในด้านการปฏิบัติการข่าวสาร (Information Operations) ที่มีมิติที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและอย่างถอนรากถอนโคน จนไม่อาจยึดถือตำราเดิมที่ร่ำเรียนมาได้  จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าในปัจจุบัน ประเทศหลายประเทศได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ไปในลักษณะมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ สร้างเครือข่ายและความร่วมมือกันมากขึ้น ไม่ว่าทั้งการแลกเปลี่ยนข่าวสาร การฝึกร่วมและความร่วมมือทางวิชาการ  ในประเทศไทย การปลุกระดมชึ้นำมวลชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐจากแกนนำที่อยู่นอกประเทศด้วยเทคโนโลยี VDO Link, ระบบ Satellite Teleconference หรือด้วยระบบ Multimedia Broadband Internet นั้น เป็นตัวอย่างของผลกระทบของวิวัฒนาการด้านสื่อและ ICT ต่อความมั่นคงของชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในอดีต อีกทั้งจากการแตกกระจายตัวของสื่อดิจิทัล (Digital media fragmentation) ที่สามารถผลิตได้อย่างรวดเร็วและส่งต่อกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้การรายงานเหตุการณ์จากภาคประชาชนและการกระจายข่าวสารที่เกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัล (VDO clip) สู่เว็บไซต์สังคมเครือข่าย (Social network) อย่างเช่น Twitter, Facebook และ Blog ต่างๆสามารถทำได้อย่างทันที่ทันใดจากประชาชนผู้เห็นเหตุการณ์ที่บันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของชาติอย่างทันทีทันใด (Real time) จึงเป็นผลให้สำนักข่าวต่างประเทศทั่วโลก ได้อ้างอิงข่าวสารและภาพเคลื่อนไหวจากเครือข่ายทางสังคมดังกล่าวได้โดยตรง โดยไม่ต้องอาศัยนักข่าวของตนเอง ทำให้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในด้านภาพลักษณ์เชิงลบต่อสังคมโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้