ปีไหนน้ำฝนน้อย ผู้คนเดือดร้อนเพราะภัยแล้ง ปีไหนฝนหนักอย่างเช่นขณะนี้ ผู้คนก็เดือดร้อนเหมือนกัน
แต่ปัญหาที่ต้องใส่ใจคือ แม้ไม่มีมรสุม ฝนตกไม่หนักหนาสาหัสเท่าใด แต่บางท้องที่ก็เกิดภัยจากน้ำหลาก ดินถล่มได้
ปัญหาชัดเจนว่า น้ำหลาก คินถล่ม นั้นเกิดจากการขาดแคลนพื้นที่ป่าไม้ และความบกพร่องผิดพลาดในการจัดวางผังเมือง , ถนนหนทางอาคารขวางทางน้ำ , การบุกรุกที่สาธารณะขัดขวางทางน้ำ ฯ
ปัญหาน้ำหลากเมื่อฝนตกหนัก จะคุกคามหมู่บ้านตำบลหนักขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาน้ำนองท่วมในตัวเมืองจะคุกคามเมืองหนักขึ้นเรื่อย ๆ
รัฐต้องมียุทธศาสตร์แก้ไขปัญหานี้
ตามรายงานทางราชการ เนื้อที่ป่าไม้ในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น ประมาณ 3 % ของเนื้อที่ประเทศไทยจากสถิติในช่วง 2549-2552 แต่เมื่อพิจารณาในพื้นที่จังหวัดต่างๆ พบว่า มีจังหวัดที่ยังมีเนื้อที่ป่าลดลงมาก เกิน 5 % ของเนื้อที่จังหวัด ได้แก่ จังหวัด สตูล ตาก น่าน แพร่ นครพนม ตราด ระจวบคีรีขันธ์ โดยเฉพาะจังหวัด ตาก และน่าน เป็นพื้นที่รับน้ำของเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิตติ์ ซึ่งมีผลต่อการชะลอน้ำท่าจากพายุฝนที่จะไหลลงเขื่อนอย่างรวดเร็ว และป้องการกัดเซาะหน้าดินลงอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ จังหวัด กำแพงเพชร เชียงราย พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน สุโขทัย กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ มุกดาหาร ยโสธร สกลนคร อุดรธานี ระยอง และ ตรัง ก็มีเนื้อที่ป่าที่ลดลงมากเช่นกัน
ปี 2551 พบพื้นที่ป่าทั่วประเทศมี 107 ล้านไร่ ไม่รวมสวนยางและสวนผลไม้ แต่ในปี 2556-2557 พบว่าพื้นที่ป่าเหลือเพียง 102 ล้านไร่ นั่นหมายความว่าภายในห้าปี ป่าไม้หายไป 5 ล้านไร่ หรือเฉลี่ยปีละ 1 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่มีลักษณะการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อต้องการพื้นที่เพื่อการเกษตรเป็นหลัก
มาตรการจัดการป่าของประเทศไทย คือ การประกาศป่าสงวนแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ 2507 แต่เนื่องจากเป็นมาตรการที่มุ่งในการควบคุมพื้นที่ป่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากป่าเป็นสำคัญ ทั้งการให้สัมปทานไม้ในอดีต (สิ้นสุดเมื่อปี 2531 หลังเกิดดินถล่มจากการตัดไม้ทำลายป่าและกระแสอนุรักษ์ในช่วงการต่อต้านเขื่อนน้ำโจน) และยังคงมีการอนุญาตให้เข้าใช้ประโยชน์หรือกระทั่งอยู่อาศัยในพื้นที่ ดังนั้นพื้นที่ป่าสงวนที่ถูกประกาศปัจจุบันจึงมีพื้นที่ลดลงอย่างรวดเร็ว (ในปัจจุบันมีพื้นที่ที่ประกาศเป็นป่าสงวนอยู่ราว 45 % หรือ 230,000 ตารางกิโลเมตร แต่มีพื้นที่ป่าเหลือจริงอยู่เพียง 171,586 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 70 ดังนั้นแสดงว่ามีเนื้อที่ป่าสงวนถูกใช้ประโยชน์ไปถึงประมาณ 30 %
การอนุรักษ์ป่าที่ได้ผลมากกว่าการประกาศป่าสงวนคือ การประกาศเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือ พื้นที่คุ้มครอง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุสัตว์ป่า วนอุทยาน เขตห้ามล่าสัตว์ป่า รวมถึง สวนรุกขชาติและสวนพฤกษศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าจะสามารถรักษาพื้นที่ที่ถูกประกาศส่วนใหญ่ไว้ได้แต่เนื่องจากขั้นตอนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ในอดีตมิได้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสำรวจเพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน จึงทำให้มีการประกาศพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ทำกิน และเก็บหาของป่าของประชาชนในชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดปัญหาในเชิงสิทธิชุมชนมากมายในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (30 มิถุนายน 2541 ) ในการผ่อนผันให้อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แต่ในขณะเดียวกันเมื่อมีการขยายพื้นที่เดิม ที่ไม่มีการแสดงแนวเขตการควบคุมที่ชัดเจนก็ส่งผลให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้จากการขยายตัวทั้งชุมชนกลางป่า และขอบป่าอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังการส่งเสริมการปลูกพืชไร่ต่างๆ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด ทั้งจากบริษัทเอกชน และนโยบายการสนับสนุนที่ขาดความรอบคอบของรัฐ ทำให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรง และสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มเติมตลอดมา