ปี 2563 กำลังจะผ่านพ้นไป ในขณะที่ปี 2564 กำลังจะเข้ามา สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่อยู่ในระหว่างการฟื้นฟู โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ที่ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยังเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากกรณีการติดเชื้อจากสาวไทยติดเชื้อจากสถานบันเทิงท่าขี้เหล็กยังคงสร้างความปั่นป่วน ทำให้มีการคาดการร์ว่า แผนการเปิดประเทศกระตุ้นการท่องเที่ยวอาจต้องเลื่อนออกไป และเมื่อหันมาดูปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะสำหรับบัณฑิตใหม่ ที่จะสำเร็จการศึกษาออกมาในปี 2564 อีก ประมาณ 5 แสนคนนั้น ยังเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง ศ.ดร.ธนารักษ์ ธีระมั่นคง นายกสมาคมปัญญาประดิษฐ์แห่งประเทศไทย และราชบัณฑิต ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ และการสื่อสาร สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการบรรยายพิเศษหัวข้อ Transform University : Learning for the Future ว่า การจัดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยในโลกยุคใหม่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทั้งในแง่ของการเรียน เนื้อหา เพื่อให้มีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สังคม การดำเนินธุรกิจ และอุตสาหกรรม โดยตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา แวดวงการศึกษามีการพูดถึงวิกฤตการตกงานของบัณฑิตไทยที่อาจจะมีมากถึง 72% เพราะขาดทักษะที่เท่าทันกับยุคสมัย ทั้งนี้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้กระบวนการความเปลี่ยนแปลงถูกเร่งให้รวดเร็วขึ้น เห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ อาทิ อูเบอร์ Airbnb ฯลฯ มีการปรับลดคนและนำกระบวนการใหม่ๆ เข้ามาใช้ในบริษัทมากขึ้น ดังนั้นคนที่มีทักษะแบบเก่าอาจไม่เป็นประโยชน์กับองค์กรอีกต่อไป คำถามในเมื่อเทคโนโลยีถูกนำเข้ามาใช้ในทุกๆ ด้านแล้ว อะไรคือทักษะที่โลกอนาคตต้องการ และสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย รวมถึงนักศึกษาจะปรับตัวอย่างไร “คิดว่าคณิตศาสตร์ยังเป็นทักษะสำคัญที่จะเป็นพื้นฐานของอีกหลายเรื่อง ควบคู่ไปกับองค์ประกอบของการสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะประยุกต์ให้เกิดเป็นไอเดียที่ผสมผสาน สอดรับกับเทคโนโลยีที่จะเข้ามาป่วนในโลกของการศึกษา ทั้งเทคโนโลยีดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ (Robotics) หรือวัสดุศาสตร์ (Materials Science)” ขณะที่นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว.ได้กำชับให้มหาวิทยาลัย ปรับให้มีการทำงานในรูปแบบเฉพาะหน้า ดูเรื่องที่กำลังเป็นผลกระทบอยู่ในสังคมและพื้นที่ที่มีความสำคัญและจำเป็น นำมาเป็นการขับเคลื่อนงานมหาวิทยาลัยด้วย อย่างเรื่องการทุเลาปัญหาการว่างงาน ซึ่งในปีการศึกษา 2563 จะมีบัณฑิตที่จบการศึกษา จำนวนหลายแสนคน อว.จึงได้มีโครงการเพิ่มทักษะบัณฑิตจบใหม่ ด้านทักษะดิจิทัลและเรียนรู้ในสถานที่ทำงานจริง โดยจะให้ทุนการศึกษากับบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 250,000 คน ที่สมัครใจเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพพิเศษ ที่เน้นพัฒนาทักษะการใช้ดิจิทัล เทคโนโลยี หรือ Digtal Literacy โดยเป็นหลักสูตร 1 ปี จบแล้วเข้าทำงานโครงการบัณฑิตอาสาเพื่อพัฒนา Digtal Literacy ให้กับประชาชนในพื้นที่ หรือต่อยอดความรู้ไปสู่อาชีพใหม่ เน้นการปฏิบัติจริงกับภาคเอกชนที่ต้องการจ้างงานหรือรัฐวิสาหกิจชุมชน รวมถึงยังมีโครงการสตาร์ทอัพต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ตนยังได้สั่งการให้ ปลัด อว. ไปกำหนดแนวทางแผนการยกระดับ อว.ให้สูงขึ้น จากที่ปัจจุบัน ถือว่าเป็นอันดับ 2 ของเอเชียอาคเนย์ จะต้องขยับขีดความสามารถให้สูงขึ้นไปถึงในระดับเอเชียตะวันออกให้ได้ เราคาดหวังว่า การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และจัดอบรมหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งมาตรการความช่วยเหลือจากภาครัฐ จะเข้ามาประคับประคองสถานการณ์การว่างงานของบัณฑิตไม่ให้วิกฤติกว่าที่ผ่านมา