ทีมข่าวคิดลึก
ในท่ามกลางที่บรรยากาศและสถานการณ์ของ "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" หรือ คสช. กำลังอยู่ในปีกที่ต้องเรียกว่าหลายสิ่งหลายอย่างค่อนข้างเป็นบวกและ "เป็นใจ"ในแทบทุกทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงได้ผ่านการทำประชามติ ไปได้อย่างราบรื่น
แต่ในห้วงเวลาเดียวกันสำหรับ"พรรคเพื่อไทย" แล้ว ดูเหมือนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกำลังดำเนินไปในทิศทางที่น่าจับตาด้วยความเป็นห่วงอยู่ไม่น้อย เพราะไม่เพียงแต่จะไม่สามารถระดมสรรพกำลัง "แนวต้าน คสช." ให้ร่วมกัน "โหวตคว่ำประชามติ" ลงได้แล้วเท่านั้น ยังกลายเป็นว่าบรรดาอดีตแกนนำของพรรคเองยังถูกไล่ล่าทางคดีกันอุตลุด !
25 ส.ค.ที่ผ่านมา "หมอเลี้ยบ"นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีทุจริตแก้สัญญาสัมปทานไทยคมเอื้อประโยชน์ชิน คอร์ปอเรชั่น ที่สุดแล้วศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินจำคุกจำเลยที่ 1 คือ นพ.สุรพงษ์ เป็นเวลา 1 ปี ไม่รอลงอาญา
ก่อนหน้านี้ "ประชา ประสพดี" อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เพิ่งโดนที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช,) มาแล้วสืบเนื่องจากใช้ตำแหน่งหน้าที่แทรกแซงกิจการขององค์กรการตลาด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง และล่าสุดยังต้องไม่ลืมว่า "บิ๊กโอ๋" พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กำลังเข้าคิวรอการถอดถอนจากที่ประชุม สนช. ข้อหาเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล เข้าไปดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมโดยมิชอบ
ในสายตาของคนพรรคเพื่อไทยเวลานี้หลายคนบอกว่าไม่อาจมองไปเป็นอื่นได้ นอกจากนี่คือปฏิบัติการล้างบาง ไล่ล่าฝ่ายตรงข้าม ของ คสช.ที่จงใจหยิบ "คดีค้างเก่า" ขึ้นมาเล่นงานอดีตแกนนำเพื่อ "ข่มขวัญ"กดดันให้พรรคเพื่อไทยที่ยังคงอยู่มองและตัดสินใจว่า จากนี้ไปจะต่อสู้อย่างไร ?
เมื่อการต่อสู้ที่เคยมีความหวังฝากเอาไว้ที่ "การเลือกตั้ง" อาจกลายเป็นเรื่องที่เรียกว่า ไกลเกินไป เพราะไม่รู้ว่ากว่าจะถึงวันนั้นสภาพการณ์ของพรรคเพื่อไทย จะเผชิญหน้ากับอะไรบ้างเพราะแม้อดีตแกนนำที่โดนคดีความเหล่านี้ อาจไม่ใช่ตัวเล่นหลักก็ตาม แต่การกดดันด้วยคดีความจนมีผลอย่างชัดเจนอย่างที่เห็นคือสิ่งที่คนของพรรคเพื่อไทย ยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ และนี่ยังไม่นับรวมการเผชิญหน้ากับ "ปฏิบัติการย่อยสลาย" ด้วยการทำให้พรรคอ่อนแอ ดึงบางกลุ่มบางฝ่ายให้ตีตัวออกห่าง สละเรือทิ้งพรรคเพื่อไทย
วันนี้ไม่ว่าจะแลตามองไปหนทางไหนก็ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นลบและเป็นรองไปเสียทั้งหมด และที่สำคัญ "คนเสื้อแดง" ที่เคยเป็นแนวร่วมรบเป็นกองกำลังภาคสนาม แต่มาวันนี้ลำพังการดิ้นรนเอาตัวให้รอดของแกนนำคนเสื้อแดงเองยังอยู่ยากเต็มที !--จบ