เปิดเทอมนี้ นักเรียนไทยหัวใจว้าวุ่นกันพอสมควร เมื่อกลุ่มนักเรียนเลวรณรงค์ให้สวมชุดไพรเวต ไปโรงเรียนแทนเครื่องแบบนักเรียน เพื่อแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์และจุดประกายให้ความสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแต่งกาย รวมทั้งก่อนหน้านี้มีประเด็นที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลกรณีสาววัย 20 กว่า แต่งชุดนักเรียนไปร่วมชุมนุม พร้อมถือป้ายข้อความ “หนูถูกครูทำอนาจาร รร. ไม่ใช่สถานที่ปลอดภัย” จึงขอย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น ที่เครื่องแบบนักเรียนในประเทศไทย เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 สมัยที่จอมพลแปลก หรือจอมพล.ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ “เพนกวิน” แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์ และการชุมนุม กลุ่มแนวร่วมราษฎร 2563 ได้ออกมาเชิดชูในฐานะนักเปลี่ยนแปลง โดยเนื้อหาสาระของพ.ร.บ.เครื่องแบบนักเรียน กำหนดในมาตรา3 ว่า “เครื่องแบบนักเรียน”หมายความถึงเครื่องแบบทั้งหลายที่กำหนดให้นักเรียน จากโรงเรียนรัฐบาลในความควบคุมของกระทรวงธรรมการ โรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทศบาล และโรงเรียนราษฎร์ แต่ง มาตรา4 เครื่องแบบนักเรียนจะเป็นอย่างใด จะให้แต่งเมื่อไร และโดยเงื่อนไขอย่างใดนั้น ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงธรรมการกำหนดไว้ มาตรา 5 ผู้ใดไม่มีสิทธิแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยชอบด้วยกฎหมาย บังอาจแต่งเครื่องแบบหรือแต่งเลียนเครื่องแบบดั่งกล่าวแล้วนั้นก็ดี หรือจัดหรืออุดหนุนให้ผู้ใดกระทำการดั่งกล่าวแล้วนั้นก็ดี ถ้าการกระทำที่ว่ามานี้ให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายโดยประสงค์จะให้เขาเชื่อถือ หรือเข้าใจว่าผู้แต่งเป็นนักเรียน ผู้นั้นมีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท ต่อมาในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้มีการปรับปรุงกฎหมาย โดยยกเลิกพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พุทธศักราช 2482 ระบุเหตุผลไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ว่า “โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย” เนื้อหาสาระ มาตรา4 ระบุว่า ในพระราชบัญญัตินี้ “นักเรียน”หมายความว่า ผู้ซึ่งศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและผู้ซึ่งศึกษาในระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติแต่ไม่รวมถึงสถานศึกษาในระดับอุมศึกษาระดับปริญญา “เครื่องแบบนักเรียน” หมายความว่า เครื่องแต่งกาย สิ่งประกอบเครื่องแต่งกายและเครื่องหมายต่างๆที่กำหนดให้นักเรียนแต่งตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา 5 ให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบนักเรียน ลักษณะของเครื่องแบบนักเรียน วิธีการแต่ง เงื่อนไขในการแต่งและการยกเว้นไม่ต้องแต่งเครื่องแบบนักเรียน ให้เป็นไปตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด มาตรา 6 สถานศึกษาใดมีความประสงค์จะขอใช้เครื่องแบบนักเรียนเป็นอย่างอื่น นอกเหนือจากที่กำหนดตามมาตรา 5 วรรคสอง ให้ยื่นคำขออนุญาตต่อกระทรวงศึกษาธิการ ตามระเบียบที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด มาตรา 7 ผู้ใดแต่งเครื่องแบบนักเรียนโดยไม่มีสิทธิที่จะแต่งหรือแต่งกายเลียนแบบเครื่องแบบนักเรียน ถ้าได้กระทำเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นนักเรียน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท