ทวี สุรฤทธิกุล
อำนาจเป็นสิ่งชั่วคราว ยิ่งใช้ผิดทางยิ่งทำลายอำนาจนั้นเอง
การจลาจลในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ถูกเรียกว่า “วันมหาวิปโยค” ไม่เพียงแต่ที่ประชาชนต้องล้มตายจำนวนนับร้อย บาดเจ็บจำนวนมาก และตึกรามรายรอบถนนราชดำเนินต้องถูกทำลายไปบางส่วน นำความเสียใจมาสู่คนไทยทั้งประเทศแล้ว ยังรวมถึงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ยังต้องหลั่งพระอัสสุชลเพื่อมีพระราชดำรัสสงบเหตุการณ์ในค่ำวันนั้นด้วย ภายหลังจากที่ทรงพระราชทานรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนกระทั่งได้รัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2517 นั้นแล้ว บ้านเมืองก็ทำท่าจะสงบสุขมากขึ้น แต่ครั้นภายหลังที่มีเลือกตั้งในตอนต้นปี 2518 เหตุการณ์บ้านเมืองก็เข้าสู่ “กลียุค” อีกครั้ง อันเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นจากการเหลิงในอำนาจของกระบวนการประชาธิปไตย ทั้งฝ่ายนิสิตนักศึกษากับนักการเมือง ที่ใช้อำนาจที่ได้ไปในทางที่ผิดพลาด
ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้กล่าวว่าสภาพบ้านเมืองตอนนั้น “แย่มาก” นิสิตนักศึกษาเองก็ใช้เสรีภาพกันอย่างฟุ่มเฟือย เรียกร้องจะเอาโน่นเอานี่ไม่หยุดหย่อน รวมถึงที่ไปยุยงส่งเสริมชาวบ้านและกลุ่มประชาชนต่าง ๆ ให้เรียกร้องและประท้วงในทุก ๆ ประเด็นที่คนเหล่านี้เข้าใจว่ารัฐบาลจะต้องยินยอม เพราะเป็นการเรียกร้องในระบอบประชาธิปไตย ที่รัฐบาลจะต้องทำตามความต้องการของประชาชน ส่วนนักการเมืองซึ่งก็คือ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรก็ก่อความวุ่นวายเรียกร้องเอาอะไรต่าง ๆ ตามใจเช่นกัน สร้างความอึดอัดให้แก่ทุกพรรคการเมืองทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะในฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในสภาพง่อนแง่นเพราะเป็น “รัฐบาลสหพรรค” (แต่สื่อมวลชนเรียกว่า “รัฐบาลร้อยพ่อพันแม่”) ต้องอาศัยเสียงพรรคเล็กพรรคน้อยมาพยุงไว้ ยิ่งทำให้รัฐบาลต้องคอยเอาอกเอาใจพรรคการเมืองเหล่านี้อยู่ตลอดเวลา ถ้าได้ดังใจปัญหาก็สงบไป แต่ถ้าไปขัดใจเข้าก็ลุกฮือขึ้นมาวุ่นวายอีก จนถึงขั้นข่มขู่จะถอนตัวจากรัฐบาลและไปเข้าด้วยฝ่ายค้าน แต่ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การไปสบคมกับทหารเพื่อมาโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทั้งการคิดยึดอำนาจและการรวมขั้วใหม่ตั้งกลุ่มขึ้นมาจะล้มรัฐบาล ที่สุดท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ประกาศยุบสภาในตอนต้นปีใหม่ 2519 และมีการเลือกตั้งในอีก 3 เดือนต่อมา ซึ่งท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็แพ้การเลือกตั้งในเขตดุสิตที่เป็นเขตทหาร อันเป็นการย้ำว่าใครอย่าได้คิด “ลูบหนวดเสือ” ทหารกำลังกลับมาแล้ว
รัฐบาลหลังการเลือกตั้งวันที่ 4 เมษายน 2519 ก็ยังเป็นรัฐบาลที่วุ่นวายไม่น้อยไปกว่ารัฐบาลก่อนหน้านี้ เพราะแม้แต่ในพรรคแกนนำรัฐบาลคือพรรคประชาธิปัตย์นั้นเอง ก็มี ส.ส.ก่อหวอดเรียกร้องเอาตำแหน่งต่าง ๆ เป็นที่วุ่นวายและสร้างปัญหาให้กับหัวหน้าพรรค คือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกด้วยนั้นเป็นอย่างมาก จนถึงขั้นสื่อมวลชนตั้งฉายาให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ว่า “ฤาษีเลี้ยงลิง” ส่วนกลุ่มนิสิตนักศึกษาก็ยังคงใช้เสรีภาพกันอย่างสนุกสนาน หลายเรื่องเป็นความล่อแหลมที่เป็นอันตรายต่อสถาบัน จึงมีการเชื่อมโยงผ่านสื่อของฝ่ายอนุรักษ์ว่าเป็นการกระทำของฝ่ายคอมมิวนิสต์ มีการก่อตัวของกลุ่มพิทักษ์สถาบันจำนวนมาก รวมถึงกลุ่มจัดตั้งของรัฐบาล คือลูกเสือชาวบ้าน ก็ออกมาต่อต้านและปะทะกับการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาอยู่ในบางครั้ง จนกระทั่งนิสิตนักศึกษาได้ไปชุมนุมกันในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนปลายเดือนกันยายน 2519 มีการทำละครล้อเลียนที่มีสื่อนำภาพไปแพร่ขยายว่าเป็นการ “จาบจ้วงมิบังควร” สื่อฝ่ายอนุรักษ์และกลุ่มต่อต้านก็โหมการโฆษณาชวนเชื่อมากขึ้น จนมีการล้อมปราบนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถือได้ว่าเป็นการกลับคืนสู่อำนาจของทหารอย่างสมบูรณ์นั้นอีกครั้ง
ใน พ.ศ. 2519 ผู้เขียนได้เข้าเป็นน้องใหม่ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บรรยากาศในมหาวิทยาลัยนั้นคึกคักเป็นอย่างมาก มีการแบ่งพวกเป็นฝ่ายซ้ายฝ่ายขวาอย่างชัดเจน ซึ่งในขณะนั้นกำลังจะมีการเลือกตั้งองค์การนิสิตของจุฬาฯ มีพรรคของนิสิตแข่งขันอยู่ 2 พรรค คือ พรรคจุฬาประชาชน ซึ่งเป็นฝ่ายซ้าย กับพรรคจามจุรี ซึ่งเป็นฝ่ายขวา แม้กระทั่งในคณะรัฐศาสตร์ก็มี 2 พวกเช่นกัน คือฝ่ายซ้ายที่เป็นคณะบริหารกิจกรรมนิสิต พวกเราเรียกว่า “พวกตึกกิจ” หมายถึงตึกกิจกรรมที่เป็นที่ทำงานของคณะบริหารนั้น ส่วนพวกของผู้เขียนเป็นพวกฝ่ายขวา อยู่ในกลุ่มกิจกรรมกีฬาต่าง ๆ แม้จะไม่ถึงขั้นทะเลาะเตะต่อยกัน แต่ก็แยกกันอยู่และรังเกียจกันและกัน ตัวผู้เขียนได้เข้าไปเป็นสมาชิกของพรรคจามจุรี และช่วยพรรคหาเสียงอย่างขะมักเขม้น แต่ก็แพ้พรรคจุฬาประชาชน โดยภายหลังการรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 บรรยากาศในมหาวิทยาลัยก็ดูซึม ๆ เนื่องด้วยการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ถูกปิดกั้นโดยปริยาย
ความพ่ายแพ้ของนิสิตนักศึกษาเป็นสัญญาณว่า พลังของฝ่ายปฏิรูปที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงในช่วงก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 สืบเนื่องมาจนถึงหลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 กำลังหมดสิ้นไป เพียงเพราะการใช้อำนาจกันอย่างเสรี โดยเป็นอำนาจนอกระบบที่นิสิตนักศึกษาใช้กันไปอย่างไม่ระมัดระวัง แทนที่จะไปเสริมอำนาจให้กับระบบรัฐสภาที่ได้มาหลังการเลือกตั้ง แต่ก็นั่นแหละก็เป็นเพราะระบบรัฐสภาก็ “ห่วย” ไม่อาจเป็นที่พึ่งแก่ประชาชนได้
ม็อบในปี 2548 และ 2552 จนกระทั่งรัฐประหาร 2557 ก็เช่นเดียวกัน