แม้การแพทย์และสาธารณสุขไทยจะมีความเข้มแข็ง ในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระดับที่เป็นตัวอย่างของนานาชาติ จากการยกย่องขององค์การอนามัยโลก แม้จะเกิดกรณีการพบปัญหาการลักลอบเข้าเมืองของคนไทยที่กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยไม่ยอมกักตัวตามาตรการ กำลังทุบการท่องเที่ยวจ.เชียงใหม่ และเชียงรายอยู่ในขณะนี้ ทั้งที่เป็นช่วงไฮซีซั่น ที่ธุรกิจท่องเที่ยวคาดหวังจะทำต่อลมหายใจในช่วงฤดูหนาว
อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าจะไม่เกิดกรณีซ้ำรอยสนามมวยอีกครั้ง เพราะจะทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจไทยในห้วงที่ผ่านมา แม้จะมีสัญญาณดีทางด้านเศรษฐกิจต่างๆ และความคึกคักจากโครงการคนละครึ่ง เติมความหวังการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของไทย แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของ 2563 จะไม่ฟื้นตัวแรงเหมือนไตรมาส 3 เนื่องจากในไตรมาส 2 รัฐบาลมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดหยุดนิ่ง ส่งผลให้เศรษฐกิจในไตรมาส 3 หลังรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ฟื้นตัวแรง แต่ว่าแรงส่งในไตรมาส 4 ยังมีอยู่ มาจากมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐจะเป็นแรงส่งสำคัญให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564
ดังนั้น ในระหว่างนี้ภาคครัวเรือนของไทย จะต้องตั้งรับกับความภาวะเศรษฐกิจอย่างไร โดยเฉพาะปัญหาหนี้สิน ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และความไม่แน่นอนทางด้านเศรษฐกิจ
บทวิเคราะห์ของ Economic Intelligence Center – TeamData ธนาคารไทยพาณิชย์ (จำกัด) มหาชน เปิดเผยข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของภาคครัวเรือนไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เพื่อค้นหาปัจจัยที่ส่งผลต่อโอกาสการเป็นครัวเรือนหนี้สูง พบว่า ระดับและประเภทของรายได้ครัวเรือน มูลค่ารถ บ้าน และการใช้จ่ายเพื่อท่องเที่ยว-บันเทิง นับเป็นลักษณะสำคัญที่สามารถอธิบายโอกาสการเป็นครัวเรือนหนี้สูงได้
หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของสำนักงานสถิติแห่งชาติ แนวโน้มของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ครัวเรือนมีการขยายตัวที่ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนไทย (เฉพาะครัวเรือนที่มีหนี้) ในปี 2562 อยู่ที่ 3.6 แสนบาทต่อครัวเรือน ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5.1% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงกว่ารายได้ของครัวเรือน (ขยายตัวเฉลี่ยปีละ 3.3%) ทำให้สัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาเป็น 98.6% ในปี 2562 จาก 83.2% ในปี 2552
อย่างไรก็ตาม Economic Intelligence Center – TeamData มีข้อแนะนำการแก้ปัญหาภาระหนี้สูงของครัวเรือนไทยเอาไว้ 4 ข้อด้วยกัน
1. เพิ่มรายได้ แม้จะเป็นเรื่องที่ท้าทายในยุคปัจจุบันในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด แต่การเพิ่มรายได้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุดในการสร้างความสามารถในการชำระหนี้ ควรพิจารณาอย่างรอบคอบถึงแนวโน้มธุรกิจและกลยุทธ์การบริหารสภาพคล่องในระยะข้างหน้า เพื่อลดความเสี่ยงในการประสบปัญหาในการชำระหนี้ 2.ลดรายจ่ายไม่จำเป็น เช่น การลดรายจ่ายด้านสันทนาการ หรือการชะลอการซื้อสินค้าที่ยังไม่มีความจำเป็น จะสามารถช่วยลดภาระหนี้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรายจ่ายท่องเที่ยว บันเทิงที่ถูกบ่งชี้จากผลการวิเคราะห์ว่ามีผลในการลดโอกาสการเป็นหนี้สูง โดยเฉพาะสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย 3.เพิ่มสัดส่วนการเก็บออม ส่วนเกินที่เกิดจากการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายควรนำมา สร้างกันชนทางการเงินเพื่อรองรับความไม่แน่นอนในระยะสั้น รวมถึงความมั่นคงทางการเงินในระยะยาวผ่านการออม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการช่วยลดโอกาสการเป็นครัวเรือนกลุ่มเปราะบางได้ดี และ 4. สำรวจความพร้อมก่อนก่อหนี้มูลค่าสูงก้อนใหม่