ทองแถม นาถจำนง
๐ ป่าเหนือเมื่อหน้าดอกไม้บาน ลมฝนบนฟ้าผ่านฟ้ามองดั่งม่านน้ำตา
น้ำฝนหล่นจากฟากฟ้า ขังแก่งเหมือนแอ่งน้ำตาไหลตกจากผาแว่วฟัง
ป่าเหนือเมื่อไปได้พบมา เมืองเหนือเมื่อน้ำบ่าเลาะธารซ่านซ่าเคล้าดัง
น้ำไหลไปหลากมากครั้ง สายชลหมุนวนเหมือนดังไหลหลั่งเป็นวังน้ำวน
ริมฝั่งวังน้ำค่ำลงคงมีแสงจันทร์ คืนหนึ่งคืนนั้นพบกันน้องเอยสองคน
เมืองเหนืออนงค์นั้นคงมีมนต์เป่า หัวใจเสียจนก่นให้ใฝ่ฝัน
แอ่วสาวเจ้าวอนอ้อนน้ำคำ จนสูรย์ลอยคล้อยต่ำสายัณห์เย็นย่ำทุกวัน
แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น แม้นใครได้ไปเที่ยวพลันหลงมั่นในเมืองเหนือเอย...
(ดนตรี......)
แอ่วสาวเจ้าวอนอ้อนน้ำคำ จนสูรย์ลอยคล้อยต่ำสายัณห์เย็นย่ำทุกวัน
แล้วไฉนจะให้ลืมนั้น แม้นใครได้ไปเที่ยวพลันหลงมั่นในเมืองเหนือเอย...๐
หนุ่มใหญ่อายุเลยหลักสี่ขึ้นไป คงจะประทับใจเพลงของครูไพบูลย์ บุตรขัน เพลงนี้กันมาก
หลายคนทราบแล้วแต่บางคนอาจจะยังไม่ทรบว่า แรงบันดาลใจให้ครูไพบูลย์แต่งเพลงนี้คือการเดินทางไปลำปาง ท่านไปไม่ถึงเยงใหม่นะครับ
ทำนองเดียวกับแรงบันดาลใจให้ครูสุรินทร์ ภาคศิริ แต่งเพลง “หนาวลมที่เรณู” ได้เดินทางไปเที่ยวงาพระธาตุพนม จังหวัดนครพนม ท่านไปไม่ถึงเรณูนครรอก เพราะตังค์หมดเสียก่อน
ย้อนกลับมาลำปาง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ผูกพันกับนครลำปางมาก ท่านผ่านชีวิตที่ลำปางเป็นเวลาถึง 8 ปี เป็นทั้งผู้จัดการธนาคารสยามกัมมาจล และต้องเป็นทหารเกณฑ์ที่นั่นด้วย
ทุกวันนี้เมื่อคนนึกอยากเที่ยวเมืองเหนือก็มักจะคิดถึงเชียงใหม่ ลืมลำปางไป นึกว่าไม่มีอะไร
อันที่จริงลำปางนั้นงดงามทุกอย่าง และยังบริสุทธิ์(หมายถึงยังรักษาบรรยากาศดั้งเดิมไว้ได้ดี ลำปางมีดีและทรงความสำคัญอย่างยิ่งยวด อุดมไปด้วยป่าเขาลำเนาไพรน่าตื่นตา ประวัติศาสตร์น่าตื่นใจเป็นจุดที่ค้นพบฟอสซิลมนุษย์วานรเก่าแก่ที่สุดในไทย เมือง เป็นปราการทางทหารสำคัญของชาติมาแต่โบราณ
และเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมานี้ ลำปางเจริญกว่าเชียงใหม่ชนิดเทียบกันไม่ติด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หลงใหลมนต์เสน่ห์ลำปางทั้งชีวิต ท่านเขียนเล่าดเรื่องเมืองเหนือไว้ว่า
“เมืองเหนือสมัยนั้น ยังโบราณมาก ไม่เหมือนอย่างสมัยนี้ ประเพณีอะไรต่อมิอะไรของเมืองเหนือยังเหลืออยู่อีกมากทีเดียว ความเจริญจากกรุงเทพฯ มันก็ไม่ได้ขึ้นไป เมื่อผมไปอยู่เมื่อปี ๗๘ - ๗๙ นี่ เมืองเหนือยังเป็นตัวของตัวเอง ทั้งเชียงใหม่ ทั้งลำปาง ที่นั่นไม่เหมือนเช่นทุกวันนี้ ไอ้ความเจริญแบบใหม่ ๆ นี่ไม่มีหรอกครับ คนเมืองเหนือยังคงเป็นคนเมืองเหนืออย่างแท้จริง ยังรักษาขนบประเพณีต่าง ๆ ไว้ได้หมด ตลอดจนภาษาอะไรต่าง ๆ ของเขา เดี๋ยวนี้มันก็กลับกลายเป็นกรุงเทพฯ ไปเสียแล้ว ทั้งนั้น เพราะผู้คนทำการติดต่อกันมากขึ้น การคมนาคมก็สะดวกขึ้น
สมัยที่ผมไปอยู่ลำปางนั้น ถนนที่ไปสู่ภาคเหนือก็ไม่มี มีแต่ทางรถไฟทางเดียว มีขบวนรถด่วนวิ่งไปถึงเชียงใหม่อาทิตย์ละสองครั้งเท่านั้นแหละ วันอังคารกับวันพฤหัสตอนขาขึ้น แล้ววันพุธกับวันศุกร์ขาล่อง ติดต่อกับกรุงเทพฯ ได้เท่านั้นเอง ไม่มีถนน ไม่มีเครื่องบินอะไรทั้งสิ้น ไปอยู่ที่นั่นก็เหมือนไปอยู่ต่างประเทศเราดี ๆ นี่แหละครับ
อย่างลำปางนี้ความเจริญก็มีอยู่ไม่มากนักหรอกครับ ตอนที่ผมอยู่นะ ก็มีในเวียงนิด ๆ หน่อย ๆ สบตุ๋ยก็ยังเป็นห้องแถวไม้ ระหว่างสบตุ๋ยก็ยังเป็นนา เป็นป่าละเมาะ ไม่มีอะไรให้ดูมากนัก ผู้คนทางภาคเหนือในสมัยนั้น ชีวิตและความเป็นอยู่ค่อนข้างง่ายกว่าในปัจจุบันมาก อาหารการกินก็สมบูรณ์ ข้าวของมีราคาถูก แล้วก็โจรผู้ร้ายก็ไม่มี อย่างปล้นอย่างจี้อะไรนี้ ทำไม่ได้เลยครับ ภาคเหนือสมัยนั้น
ส่วนที่ลำปางได้ชื่อว่าเมืองคนดุ หรือเมืองมือปืนอะไรนั้น มันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งครับ คือมันเป็นเรื่องหักหลังกันเองในเรื่องค้าฝิ่น หรือไม่ก็เรื่องเจ็บใจผูกอาฆาตกันในเรื่องผู้หญิงยิงเรือ เขาก็ฆ่ากันฟันกัน ไม่ใช่เรื่องชิงทรัพย์หรือจี้ปล้นอะไรเลย อาชญากรรมแบบที่มีกันอยู่ดาดดื่นในทุกวันนี้ ภาคเหนือสมัยนั้น ไม่มีเอาเลย ไอ้จี้ ไอ้ปล้น ไอ้ขโมยอะไรนั้น แทบไม่มีเอาจริง ๆ น้อยที่สุด เป็นเรื่องการค้าฝิ่นทั้งนั้น เพราะเรื่องฝิ่นนี้ ถ้าผิดสัญยิงสัญญาอะไรกันแล้ว จะฟ้องศาลก็ไม่ได้ เรื่องผู้หญิง เจ็บใจชิงรักหักสวาทกันขึ้น เกิดอารมณ์วูบขึ้นมา ก็ฆ่ากันเสียหน่อย
ผมมีพรรคพวกที่เป็นพ่อเลี้ยงทางภาคเหนือรู้จักกันเป็นจำนวนมาก แต่จนถึงเดี๋ยวนี้ตายหมดแล้วครับ ก็ไอ้เรื่องค้าฝิ่นกันนี่แหละ ถูกยิงตายหมด ก็ตามล่าตามสังหาร ตามยิงกันทีละคนสองคน จนตายเรียบ ไอ้ที่ตายเองก็เห็นจะมีคนเดียวแหละครับ ชื่อพ่อเลี้ยงโหม้ แกเจ็บตาย นอกจากนั้นก็ถูกยิงตายเป็นส่วนใหญ่ เอ….ไม่ใช่ส่วนใหญ่ละครับ เรียกว่าถูกยิงตายทั้งหมดนั่นแหละ เท่าที่ผมรู้จัก
พ่อเลี้ยงเหล่านี้สมัยนั้น ผูกสมัครรักใคร่กับผมเป็นอย่างมาก กินด้วยกัน เที่ยวด้วยกัน เล่นเหล้าด้วยกัน ไปมาหาสู่กันเสมอ คนเหนือสมัยนั้นเรียกพ่อเลี้ยงพวกนี้ว่า คนของผมหรือลูกน้องของผม มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เวลาเดินถนนก็ไปกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน คิดถึงชีวิตตอนนั้นก็สนุกสนานพอสมควร
จากลำปางไปเชียงใหม่ สมัยนั้นไม่มีถนนไป มีแต่ทางรถไฟเส้นเดียว แต่จากลำปางไปเชียงรายมีถนนและมีรถยนต์วิ่งไปมากันแล้ว แต่ถนนคงจะทารุณเหลือเกินละครับ กว่าจะถึงที่สมบุกสมบันกันแทบแย่ มีลาดยางกันไม่กี่ตอน ส่วนใหญ่ก็เป็นลูกกรวดลูกรังทั้งสิ้น รถก็วิ่งกันไปตามบุญตามกรรม แต่มันก็ถึงจนได้แหละครับ
อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า การขาดความเจริญเพราะห่างจากกรุงเทพฯ จนขาดการติดต่อหรือติดต่อได้ยากเหลือเกินเช่นนี้นั้น มันยังคงทำให้ภาคเหนือยังคงเป็นเหนือมากกว่า ทุกวันนี้เกือบมองทางนี้ไม่เห็นความแตกต่างจากกรุงเทพฯ เสียแล้ว แม้แต่ภาษาเหนือก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก ในระยะ ๓๐ - ๔๐ ปีมานี่ เปลี่ยนแปลงไปมากจริง ๆ ศัพท์ทางเหนือไม่ค่อยได้ใช้กันแล้ว โดยมากใช้ศัพท์ภาคกลาง แต่ยังมีคำประกอบเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ทำให้ดูว่าเป็นคำเมืองอย่างเดิม แล้วก็วรรณยุกต์ต้องเป็นเหนือ แต่วิธีออกเสียงนั้น บางคำที่ออกเสียงเพี้ยนกันก็ไม่ออกแบบเหนือเสียแล้ว อย่างคำว่าปัญญานี้ ก็ออกเสียงเป็นปัญญา ไม่ออกว่าปัญหยาอย่างแต่ก่อน
ผมนี้เมื่อมีการเลือกตั้งคราวที่แล้ว ก็ขึ้นไปช่วยคุณบุญเท่ง ทองสวัสดิ์ ปราศรัยหาเสียง ผมอ่านคำปราศรัยหาเสียง ผมอ่านคำปราศรัยด้วยคำเมืองตลอด ผู้คนร้องโอโฮไปตาม ๆ กัน นี่ไปเอาภาษาอะไรมาพูด “กำเลิ้กกำเดิ้ก” ซึ่งแปลว่าคำโบร่ำโบราณทั้งนั้นแหละครับ คนสมัยนี้เขาไม่ค่อยได้ยินกันแล้ว ก็ผมพูดคำเมืองเมื่อสมัยสี่สิบปีนะซีครับ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดกันแล้ว น่าเสียดายคุณบุญเท่งเองเป็นคนเหนือแท้ ๆ เขายังไม่ค่อยพูดเช่นกัน เขาพูดภาษาภาคกลาง โดยวิธีผันวรรณยุกต์ให้เป็นเหนือเสียหน่อยหนึ่ง ฟังดูก็เข้าทีดีอยู่หรอก แต่มันไม่ใช่ภาษาเหนือจริง ๆ ดอกครับ เหตุที่เป็นเช่นนี้ ผมเข้าใจเอาเองว่า เพราะฟังวิทยุกันมา ประกอบกับการศึกษาระดับประชาบาลแพร่หลายไปอย่างทั่วถึง จึงมีโอกาสได้เรียนภาษาภาคกลางที่โรงเรียน แต่สมัยก่อน ผมไปอยู่นั่น คนโต ๆ แทบจะไม่ได้เล่าเรียนอะไรเลย พวกที่มาจากบ้านนอก บ้านนา เขายังพูดเหมือนกันอยู่ สมัยนี้คนกรุงเทพฯ ขึ้นไปเที่ยวเหนือ ฟังภาษาเขาพูดได้สะดวกมาก เพราะเขาไม่ได้พูดภาษาเหนือจริง ๆ กันเสียแล้ว
ใครก็ตามที่คิดจะไปเที่ยวเมืองเหนือ เชียงใหม่ หรือลำปาง ในโอกาสหน้านี้ เห็นผู้หญิงคนเหนือขายข้าวโพด คุณ ๆ ลองถามสักทีก็ได้ว่า ขายอะไร ถ้าเป็นสมัยโบราณ เขาจะตอบว่า “ขายข้าวสาลีเจ๊า” เพราะข้าวโพดมันก็คือข้าวสาลีทางภาคเหนือเขา สมัยนี้ไปถามเขาอาจจะตอบอย่างนี้ก็ได้ว่า “สวีท คอร์นเจ๊า”มันเป็นอย่างงั้นไป ผมเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่ร้อง “ตายจริง!”
คุณ ไพโรจน์ ไชยเมืองชื่น เขียนเรื่อง “คึกฤทธิ์” เล่าชีวิตฝรั่ง ตีพิมพ์ครั้งแรก ใน หนังสือพิมพ์ลำปางนิวส์ ฉบับที่ 193 วันที่ 7-13 กรกฎาคม 2551 หน้า 7
“ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีผู้ล่วงลับได้ชื่อว่าเป็น “เขยลำปาง” ทั้งที่ท่านก็มิได้มีภริยาเป็นคนลำปางแต่อย่างใด
เหตุที่ชาวลำปางให้เกียรติแก่ท่านเป็น “คนลำปางกิตติมศักดิ์” เช่นนี้ เพราะเคยมาพำนักอยู่ที่เมืองลำปางถึง 8 ปีขณะที่เป็น ผู้จัดการบริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปางปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน)สาขาลำปาง ซึ่งยังคงมีอาคารสำนักงานเก่าในสมัยนั้นที่งามสง่าหลงเหลือเป็นอนุสรณ์ให้เราได้ชื่นชมอยู่
คุณชายคึกฤทธิ์รู้จักเมืองลำปางและมีสายสัมพันธ์อันดีกับบุคคลสำคัญของลำปางในยุคนั้นหลายคน ท่านได้บอกเล่าเรื่องราวของเมืองลำปางในช่วงปีพ.ศ.2478-2485 เอาไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานศพคุณทวีศักดิ์ จันทรวิโรจน์ ผมได้อ่านพบขอนำมาเล่าสู่กันฟังโดยเฉพาะเรื่องนายห้างฝรั่งทำไม้ ดังนี้
เมืองลำปางในสมัยนั้นมีป่าไม้สักที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์การทำป่าไม้ของบริษัทต่างประเทศหรือ“ห้าง” มาตั้งสำนักงานอยู่ที่นี่ เช่น ห้างบอมเบย์เบอร์ม่า ห้างบอร์เนียว ห้างแองโกลไทย ห้างมิสหลุยหรือหลุยส์ ที. เลโอโนเวนส์ และห้างอีสต์เอเชียติคของเดนมาร์ก ทุกห้างจะมีนายห้างฝรั่งเป็นผู้จัดการและมีฝรั่งหนุ่มๆมาเป็นผู้ช่วยประมาณสี่ห้าคน มีคนไทยหรือพม่า ซึ่งได้รับโอนสัญชาติเป็นไทยมาทำหน้าที่เป็นลูกช่วงรับทำไม้
หลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ (Louis Thomas Cunnis Leonowens 1856-1919) ผู้ตั้งบริษัทหลุยส์ ตี. เลียวโนเวนส์ ดำเนินธุรกิจค้าไม้ มีสำนักงานอยู่ที่นครลำปางด้วย (ปัจจุบันอยู่ในบริเวณบ้านพักออป.ลำปาง)
ที่มาภาพ : http://art-culture.chiangmai.ac.th/academic/natha/2547/12/21/
ที่มาข้อมูลหลุยส์ : http://en.wikipedia.org/wiki/Louis_T._Leonowens
ห้างป่าไม้เหล่านี้เป็นบริษัทที่ใหญ่โต มีเงินทุน มีเครื่องมือทำไม้ ช้างและกุลีทำไม้เป็นจำนวนมาก รวมถึงมีอิทธิพลทางการเมืองสูง ห้างป่าไม้จะมีสำนักงานและบ้านพักของนายห้างและผู้ช่วย ปลูกไว้ใหญ่โตในบริเวณพื้นที่ของห้างอันกว้างใหญ่
บ้านพักของฝรั่งปลูกเป็นเรือนไม้หลังใหญ่ใต้ถุนสูง บางแห่งกั้นใต้ถุนเป็นสำนักงาน ส่วนชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย มีเครื่องเรือนแบบฝรั่งนั้นทำด้วยหวายหรือไม้สักอย่างดี มีภาพติดผนังที่นายห้างเอามาจากต่างประเทศ มีการตกแต่งปักแจกันดอกไม้ตามที่ต่างๆภายในบ้าน ซึ่งเป็นผีมือของเด็กรับใช้ชาวขมุ
การใช้ชีวิตของนายห้างฝรั่งจะรับประทานอาหารฝรั่งล้วน ปรุงโดยพ่อครัวชาวกำมุ หรือที่คนลำปางเรียกว่า “ขมุ” อาหารเช้าจะมีน้ำชา ไข่ดาว หมูแฮมหรือหมูเบคอนหรืออาหารอย่างอื่น เช่น เค็ดเจอรี่ ซึ่งเป็นปลาผสมกับข้าวสุก ขนมปังปิ้ง เนย แยมส้มที่เรียกว่า มาร์มะเลด มีกาแฟหรือน้ำชาใส่นมแบบอังกฤษ
ส่วนอาหารกลางวันเป็นอาหารพวกข้าวผัด มีของหวานแบบฝรั่งที่เรียกว่า พุดดิ้ง ตกบ่ายมีน้ำชา มีแซนด์วิช ขนมหวาน ผลไม้ ส่วนอาหารเย็นนั้นเต็มรูปแบบเริ่มต้นตั้งแต่ซุป ปลา เนื้อหรือไก่ กินของหวานแล้วกลับไปถึงของเค็มที่เรียกว่า เซเวอรี่ อีกครั้งหนึ่ง มีการดื่มเหล้าในช่วงบ่ายที่สโมสรหลังจากเล่นกีฬาเสร็จแล้ว
คุณชายยังเล่าอีกว่า ชีวิตครอบครัวของนายห้างฝรั่งมักจะมีภรรยามาจากต่างประเทศหรืออาจเป็นคนไทยทั้งโดยเปิดเผยหรือบิดบังไว้ ส่วนผู้ช่วยนายห้างที่เป็นฝรั่งหนุ่มมีข้อห้ามมิให้มีภรรยา แต่อันที่จริงแล้วมักมีเพื่อนนอนเป็นหญิงไทยแทบทุกคน โดยมีวิธีการคือ เมื่อมีฝรั่งผู้ช่วยนายห้างมาจากต่างประเทศได้ประมาณ 2 วัน คนรับใช้ประจำตัวจะนำหญิงสูงอายุคนหนึ่งมาพบ โดยทำทีว่ามาขายเครื่องเงินหรือของที่ระลึก มีของเหล่านั้นใส่มาในกระจาดจริงๆ แต่ในระหว่างที่ฝรั่งนายห้างหรือผู้ช่วยนายห้างกำลังเลือกของอยู่นั้น หญิงสูงอายุจะเอาภาพผู้หญิงสาวๆสวยๆหลายคนออกมาให้นายห้างฝรั่งดู หากชอบคนไหนหญิงสูงอายุก็จะไปตกลงกับคนรับใช้ประจำตัวนายห้างอีกที
ต่อจากนั้นเมื่อนายห้างหรือผู้ช่วยฝรั่งเข้านอนก็จะมีคนไปนอนด้วย ไม่ว่านายห้างจะอยู่ในเมืองหรือออกไปนอนไพรเมื่อไปตรวจป่า พอรุ่งเช้าเมื่อนายห้างตื่นขึ้นก็จะนอนอยู่คนเดียวและด้วยเหตุผลนี้จึงถือว่า นายห้างฝรั่งเป็นคนโสด (แต่ไม่สด)
คุณชายเล่าด้วยความแปลกใจอีกว่า เมื่อมาอยู่ลำปางคืนแรก พอรุ่งเช้าโผล่หน้าต่างออกไปดูภูมิทัศน์ เห็นหญิงฝรั่งหน้าตาสวยเป็นสาวเต็มตัว แต่งกายแบบพื้นเมืองถีบจักรยาน เห็นแล้วทำให้เคลิบเคลิ้มนึกไปว่าตนอยู่ในประเทศอังกฤษได้ไต่ถามดูภายหลังทราบว่าหญิงสาวฝรั่งที่เห็นเมื่อตอนเช้านั้นเธอชื่อ “บัวก๋าย”
เท่าที่คุณชายคึกฤทธิ์เล่ามาทำให้เราทราบว่าครั้งหนึ่งลำปางบ้านเฮาก็เป็น “เมืองนานาชาติ” ดูอินเตอร์กับเขาเหมือนกันและผลจากการทำกิจกรรมอดิเรกของนายห้างฝรั่งหนุ่มข้างต้นได้ทำให้คนลำปางมีหน้าตาเป็นฝรั่งไปหลายคน !??!