เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้น ศาสนาเทวนิยม สอนว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นด้วยการบันดาลของเทพเจ้า พทธศาสนาเป็นกรรมนิยม สอนว่าทุกสิ่งเกิดขึ้นจาก “เหตุ” ซึ่งก็คือผลจากการกระทำจองตนเองนั่นเอง พุทธศาสนาถือว่า สัตว์ทั้งหลายจะดีหรือชั่วย่อมขึ้นอยู่กับการกระทำของตนเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับผู้อื่น หรือขึ้นอยู่กับวงศ์ตระกูล เพราะการทำดีทำชั่วต้องทำด้วยตนเอง ไม่ใช่มีผู้อื่นมาทำให้ได้ เหตุนี้สัตว์ทั้งหลายจึงมีกรรมเป็นของตน กมฺมสฺสโกมฺหิ เมื่อทำกรรมไว้อย่างไร ก็ต้องรับผลของกรรมนั้นตามที่ทำไว้ กมฺมทายาโท คือเป็นทายาทของกรรมที่ทำแล้ว จึงจำแนกสัตว์ให้ไปเกิดในที่ต่างๆกัน กมฺมโยนิ คือมีกรรมเป็นกำเนิด และกรรมที่ทำแล้วยังจะติดตามไปทุกหนทุกแห่ง จะไม่สูญหายไปใหน กมฺมปฏิสรโณ เพราะเมื่อกรรมชั่วให้ผลอยู่ แม้ญาติพ่อ-แม่พี่น้องตลอดจนผู้มีอำนาจราชศักดิ์ ก็ไม่อาจช่วยให้พ้นจากทุกข์ได้ แต่ถ้ากรรมดีให้ผลอยู่ แม้ใครจะคิดร้ายทำลาย ชีวิตก็ไม่อาจถูกทำลายได้เลย. การกระทำของมนุษย์ทั่วไปนั้น มีกุศลกรรม-ทำดี กับอกุศฃลกรรม-ทำชั่ว ผลของกรรมเปรียบเหมือนเงา เมื่อมีคนที่ใหนก็ต้องมีเงาที่นั่น คือมีกรรมก็ต้องมีวิบากรับผล. แต่คนสมัยใหม่นี้ หลายส่วนไม่เชื่อกฏแห่งกรรม ต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้คนเลิกเชื่อกฎแห่งกรรม เพราะคนทำชั่วมาก ๆ กลับลอยนวลมีหน้ามีตาเป็นที่ยกย่อง มีอำนาจมีเกียรติ แต่อำนาจเกียรตินั้นเป็นของชั่วคราวเท่านั้น กฎแห่งกรรมยังใช้ได้ตลอดไป ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อธิบายว่า “สุภาษิตนี้ใช้ได้ตลอดไป คนที่สงสัยสุภาษิตนี้คือคนที่มีธาตุของความชั่วอยู่ในตัวของตัวเองแล้ว ความดีนั้นเป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของคนดีทุกคน ฉะนั้นเมื่อได้ทำความดีแล้ว ก็ย่อมพึงพอใจในผลของการกระทำของตนที่เกิดขึ้นคือความดีนั้นเอง มิใช่มุ่งหวังลาภยศวาสนาเป็นเครื่องตอบแทน คำว่า “ทำดีได้ดี” นั้นหมายความว่าเมื่อทำดีแล้ว ความดีจะเกิดเป็นผลตอบแทน มิใช่ได้สตางค์รุ่มรวยเป็นมหาเศรษฐีหรือมีอำนาจวาสนาเป็นเจ้าคนนายคน ยกตัวอย่างเช่น เราช่วยคน ๆ หนึ่งให้พ้นจากความลำบาก เป็นสิ่งที่เราพึงปรารถนา เป็นความดีที่เกิดขึ้นหากเราช่วยได้ มิใช่ว่าเขาจะต้องมาตอบแทนสนองบุญคุณหรือไม่ ถ้าหากเขามีกตัญญูกตเวทีก็เป็นความดีที่เขาทำ แต่ถ้าหากเขาไม่มี หันมาแว้งกัดเอาเราเข้า ก็เป็นความชั่วของเขาเอง ทั้งสองอย่างไม่เกี่ยวกับเราฉะนั้นคนดีจริงจึงมุ่งหน้าทำแต่ความดี ถือเอาความดีนั้นเองเป็นทั้งมรรคและผล มิใช่ถือเอาความดีเป็นมรรค เพื่อให้ได้ผลเป็นลาภสักการต่าง ๆ คนที่ถือความดีเป็นมรรคเพื่อให้ได้ผลอื่นนี้จะต้องท้อถอยในสุภาษิตนี้ทุกคนไป เพราะใจนั้นตั้งอยู่ในที่ผิดเสียแล้ว คือทำความดีมิใช่เพื่อความดี แต่เพื่อผลซึ่งในบางกรณีความชั่วก็อาจยังให้บังเกิดได้ เช่นทรัพย์สมบัติ หรืออำนาจวาสนา คนที่หวังเชนนี้มิใช่คนดี แต่เป็นคนชั่วซึ่งโอกาสที่จะทำความชั่วยังมาไม่ถึง จึงต้องซังกะตายทำความดีไปก่อน และคนที่มีความเข้าใจเช่นนี้ เมื่อโอกาสมาถึง เป็นต้นว่าเข้าไปอยู่ในตำแหน่งฐานะที่จะประกอบการทุจริตหาโภคสมบัติใส่ตัวได้ เป็นทำความชั่วทุกที ทั้งนี้เมื่อแรกเข้าไปก็เจตนาจะทำความดี เพราะความอยากได้ลาภยศและคำสรรเสริญนั้น เป็นโลภเจตนาประจำสันดานอยู่แล้ว” (“ตอบปัญหาประจำวัน” 5 กรกฎาคม 2494)