สถาพร ศรีสัจจัง
ฮาโรล ลัสกี้ เคยกล่าววาทกรรมสำคัญไว้ชุดหนึ่งว่า “อาณาจักรเป็นสมบัติของโจร” ส่วนที่มาของวาทกรรมนี้เป็นมาอย่างไร และอาโรล ลัสกี้ ได้ให้เหตุผลเรื่องที่เขาสรุปว่า “อาณาจักรเป็นสมบัติของโจร” ไว้อย่างไรบ้างนั้น คนที่อยากรู้ให้ลึกคงต้องไปหาอ่านกันเอาเอง เพราะคงไม่มีพื้นที่มากพอจะสาธยายถึงเรื่องนั้น
หลักสำคัญข้อหนึ่งของทฤษฎีบทว่าด้วย “วัตถุนิยมวิภาษวิธี” ของคาร์ล มาร์กซ์ เจ้าแห่งลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ได้รับการนำมา “ปรับใช้” เพื่อการวิเคราะห์สังคมของบรรดา “นักปฏิวัติ” คนสำคัญๆที่สมาทานความคิดของเขามาเป็นสรณะ
ไมว่าจะเป็น เลนิน ทร็อตสกี้ อันโตนิโอ กรัมขี่ เหมา เจ๋อ ตง ฟิเดล คาสโตร หรือแม้แต่นายแพทย์ เออร์เนสโต “เช” เกวารา ก็ตาม ก็คือ “การเปลี่ยนแปลงของสิ่งเกิดจากความขัดแย้ง(ทั้งภายในและภายนอก)ของสิ่งนั้นๆ ที่ต้องผ่านการสั่งสมเชิงปริมาณของความขัดแย้ง จนพัฒนาไปถึงจุดแตกหักหนึ่ง จึงค่อยสำแดงคุณภาพใหม่ของสิ่งนั้นให้เห็น”
และหลักการสำคัญอีกข้อต่อมาก็คือ “ความขัดแย้งภายในหรือ “อัตวิสัย” เป็นปัจจัยชี้ขาดการเปลี่ยนแปลงของสิ่ง”
สองหลักนี้ (มีหลักอีก 2 หลักที่สำคัญ ช่วยไปหาศึกษากันเอาเอง) ถือเป็นหลักการพื้นฐานทั่วไปของนักวิเคราะห์สังคมในสกุลมาร์กซิสต์ทั้งหลาย!
กล่าวสำหรับการวิเคราะห์เรื่องความขัดแย้งในสังคมไทยนั้น นักคิดนักฝัน หรือบางคนที่เรียกตัวเองว่า “นักปฏิวัติ” หรือ “นักปลดแอก” ที่เคยเกิดขึ้นในสังคมไทยมามากมายแล้วก่อนหน้านี้ ก็เคยใช้หลักดังที่กล่าวมานั่นแหละ วิเคราะห์กันมาจนแหลกละเอียดไปหลายครั้งหลายหนแล้ว
ที่เอาจริงเอาจังเป็นรูปธรรมที่สุดก็เห็นจะไม่มีใครเกินกลุ่มคนที่รวมตัวกันอยู่ในพรรคการเมืองที่ชื่อ “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” และบรรดา “แนวร่วม” (front United) ของพวกเขา การเคลื่อนไหวเพื่อการ “ปฏิวัติสังคมไทย” ที่มีเข็มมุ่งตามคำโฆษณาว่าเพื่อ “เพื่อปลดแอกสังคมไทยไปสู่สิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมที่แท้จริงของมวลชน” (หมายถึงคนกลุ่มข้างมากผู้ลงแรงทำการผลิตที่แท้จริงในสังคม)เต็มไปด้วยความตั้งใจจริง ความกล้าหาญกล้าต่อสู้ และกล้าเสียสละเป็นอย่างมาก หลังพบว่าไม่สามารถต่อสู้ในแนวทางรัฐสภาได้ ก็ประกาศตั้งพรรคและจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธในเขตป่าเขา เพื่อสู้กับ “อำนาจรัฐปฏิกิริยา” อย่างเอาเป็นเอาตายมาตั้งแต่ประมาณทศวรรษ 2480 จนกระทั่งถึงกาลล่มสลายพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในช่วงกลางทศตวรรษ 2520
ที่พูดถึงพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขึ้นมาเพราะนึกไปถึงบทสัมภาษณ์บางบทบางตอนของอดีตผู้นำนักศึกษายุค14 ตุลาฯ(2516)คนสำคัญท่านหนึ่ง ที่เคยเข้าป่าจับปืนร่วมรบร่วมประกาศอุดมการณ์อุทิศชีวิตต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยไปสู่ “สังคมที่ดีกว่า ก้าวหน้ากว่า” กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเพื่อ “ปลดแอกสังคมไทย” แต่ท้ายสุดก็ต้องผิดหวังต่อยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของพรรคนั้น
ต้องวางปืนถอยร่นออกจากเขตป่าเข้าสู่สังคมเมืองอีกครั้ง และประกาศตัวเองเป็น “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” จากนั้นก็ได้รับทุนไปศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์อันโด่งดังของมหามิตรสหรัฐอเมริกา
กลับเมืองไทยมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนได้ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะรัฐศาสตร์ และกลายเป็นนักคิดนักเขียนคนสำคัญซึ่งผลงานทั้งที่เป็นด้านวิชาการและด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์(บทกวีบทความ บทสัมภาษณ์ เรื่องสั้น และสารคดี)ของท่านนั้นทรงคุณค่าจนได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อยู่ในปัจจุบัน
คนที่เคยผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยจากช่วงทศวรรษ 2510 - ทศวรรษ 2550 คงพอนึกชื่อปัญญาชนคนสำคัญของสังคมไทยท่านนี้ออกตรงกัน ว่าย่อมคือ อาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล !
สาเหตุสำคัญของความล้มเหลวและพ่ายแพ้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยนั้น หลายคนหลายฝ่ายวิเคราะห์ตรงกันว่าเพราะนักทฤษฎีของพรรควิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยผิด!
แม้จะเป็นที่รู้กันว่าชาวพรรคคอมมิวนิสต์ (ไม่ว่าจะในสังคมไหน)ย่อมเป็นสาวกของคาร์ล มาร์กซ์ ทั้งสิ้น และในแต่ละพรรคดังกล่าวย่อมจะต้องมีผู้ที่แตกฉานในทฤษฎีมาร์กซ์คือหลักวัตถุนิยมวิภาษวิธี (dialectical Materialism) และ หลักวัตถุนิยมประวัติศาสตร์( Historical materialism)อยู่เป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็ในกลุ่มที่เป็นคณะ “โปลิต บูโร” หรือ “กรรมการกลาง” ของพรรค!
แต่ทำไมจึงวิเคราะห์ความขัดแย้งในสังคมไทยได้ผิดพลาดถึงขนาดต้องนำพาพรรคที่เป็นแหล่งรวมผู้คนที่ฟังว่ามีคุณภาพด้านจิตใจแบบ “ ไม่กลัวการเสียสละ-ไม่กลัวตาย” รวมตัวอยู่มากที่สุด อย่างที่ไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ไทย ไปสู่ภาวะ “แตกดังโพล้ะ!” ในท้ายที่สุด!!
แล้วอาจารย์ ดร.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่พูดถึงล่ะเกี่ยวอะไรกับเรื่องนี้?!!!