รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ปี 2020 กำลังจะผ่านไป!
เรื่อง “อาหารการกิน” 1 ในปัจจัย 4 ที่ไม่อาจมองข้ามได้ ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องใกล้ตัวเท่านั้น แต่มีผลต่อหลายสิ่งหลายอย่าง
เพราะเรื่อง “การกิน” ทุกวันนี้ไม่ได้หยุดแค่อร่อย!
หรือไม่ได้หยุดแค่ “กินเพื่ออยู่” (ในยุคข้าวของแพง)
หลายคนมองไปถึง “อนาคต” ที่พูดถึง “นวัตกรรมอาหารแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นทางเลือกอาหารแบบใหม่ๆ ที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ สะอาดปลอดภัยต่อการรับประทาน รวมถึงการช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของไทยให้ก้าวทันและตอบโจทย์ความต้องการอาหารในตลาดโลกไม่แพ้ประเทศอื่นๆ ที่มีให้ได้ชมและชิมกันอย่างกว้างขวาง
แต่ก่อนจะก้าวไปถึงอนาคต ลองหันมามองพฤติกรรมการบริโภคของคนไทย จากหัวข้อโพลที่กำลังเก็บข้อมูลอยู่ในขณะนี้ ในหัวข้อ “อาหารการกินของคนไทย ปี 2020 โดยเก็บข้อมูล 4 ประเด็นหลักๆ ได้แก่
ประเด็นแรก “ถามถึงอาหารการกินของคนไทย” โดยเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งในด้าน ความใส่ใจในการเลือกอาหารการกิน ค่าใช้จ่ายในการกินอาหารแต่ละวัน การประหยัดในการกิน ทำอาหารกินเอง กินข้าวนอกบ้าน โทรสั่งผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น แกร๊บฟู้ด ไลน์แมน เดลิเวอรี่ ฯลฯ ซื้อเองจากร้าน กินคนเดียว กินหลายคน กินร้อน ข้อนกลาง ล้างมือก่อนกินอาหาร อื่นๆ ที่เลือกเติมได้ตามใจชอบ
ประเด็นที่ 2 “เมนูยอดฮิตของคนไทย ณ วันนี้” โดยมีเมนูให้เลือกตอบเกือบ 20 เมนู (และยังเปิดกว้างให้เลือกตามใจชอบอีก) มีทั้ง ข้าวไข่เจียว ข้าวกะเพรา ข้าวราดแกง ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว สุกี้ ก๋วยเตี๋ยว ข้าวเหนียวหมูปิ้ง หมูกะทะ ชาบู พิซซ่า ไก่ทอด น้ำพริก/ผัก อาหารคลีน ไอศกรีม เค้ก/เบเกอรี่ ขนมไทย น้ำอัดลม/น้ำหวานต่าง ๆ ชาไข่มุก และอื่น ๆ
ประเด็นที่ 3 “ค่าใช้จ่ายของอาหารในแต่ละวัน” โดยเฉลี่ยมามีมูลค่าเท่าไหร่?
และปิดประเด็นสุดท้าย เรื่องของ “คนไทยสมัยนี้อยากเรียนรู้เรื่องใดบ้างที่เกี่ยวกับอาหารการกิน” ทั้ง อยากเรียนรู้เพื่อทำอาหารรับประทานเอง อยากเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ อยากเรียนรู้ในสถาบันฝึกอบรม อยากเรียนรู้ผ่านยูทูบ/เรียนออนไลน์ อยากเรียนรู้จากเพื่อน/ครอบครัว และอื่นๆ
ถ้าดูตามหลักจิตวิทยาพัฒนาการของมนุษย์แล้วจะเห็นได้ว่า พฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและปัจจัยต่างๆ เช่น เพศ อายุ ความรู้ ฐานะทางสังคม ศาสนา และขนบธรรมเนียม ประเพณี โดยทั่วไปพบว่าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคจะเปลี่ยนแปลงได้แต่ต้องใช้เวลาและจะช้ากว่าการเปลี่ยนพฤติกรรมอื่นๆ เช่น ด้านการแต่งกายหรือภาษาพูด ปัจจัยที่เกี่ยวข้องหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคอาหารของมนุษย์ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม และสถานะทางสังคม ขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนาและความเชื่อต่างๆ การได้รับความรู้ด้านโภชนาการ เทคโนโลยี การคมนาคมขนส่งและการติดต่อสื่อสาร ภาพลักษณ์ของอาหารและผลของการโฆษณา...เรียกว่าสารพัดปัจจัย!
นั่นคือ “ทฤษฎี”
แต่ความเป็นจริงคงต้องรอคำตอบจากโพลที่จะเผยแพร่ วันอาทิตย์นี้ ท่านผู้อ่านจะได้ถึงบางอ้อว่า สภาพปัจจุบัน มีปัจจัยที่หลากหลายล้วนมีอิทธิพลต่อ “พฤติกรรมการกินอยู่ของคนไทย” ณ วันนี้
โดยเฉพาะ โควิด -19 แขกที่ไม่ได้รับเชิญ! (จะได้เข้าใจพฤติกรรมการบริโภคได้ชัดเจนยิ่งขึ้น)