ความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทย เริ่มเป็นรูปธรรมขึ้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและสัญญาการจัดซื้อวัคซีน กับบริษัท แอสตร้าเซเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำสัญชาติอังกฤษ-สวีเดนเมื่อวันที่ 27พฤศจิการยน ที่ผ่านมา ตามมติคณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันอไวรัสโควิด-19 สำหรับประชาชนไทยโดยการจองล่วงหน้าและการจัดซื้อวัคซีนวงเงิน 6,049,723,117 บาท
โดยถ้อยแถลงของพล.อ.ประยุทธ์ ระบุตอนหนึ่งว่า “...เมื่อ 2-3 เดือนก่อน ได้ตัดสินใจว่า ประเทศไทยต้องเดินหน้าหาพันธมิตร เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศไทยให้ได้ ไม่ใช่เพียงแค่ไปเข้าคิวรอซื้อจากการผลิตในประเทศอื่นเพียงอย่างเดียว เราต้องเลือกจับมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ ที่น่าจะมีโอกาสทำสำเร็จได้จริงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเดือนที่แล้ว ความพยายามของเราประสบความสำเร็จ ซึ่งนอกจากเราได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสทราเซเนกา เพื่อผลิตวัคซีนในประเทศไทย หากการพัฒนาวัคซีนสำเร็จลุล่วงแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการ คือประเทศไทยยังจะได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีนนี้ด้วย และในวันพรุ่งนี้ จะมีการลงนามเพิ่มเติมในอีกหนึ่งข้อตกลง เพื่อสั่งซื้อวัคซีนนี้ โดยเมื่อ 2-3 วันก่อน เราได้รับทราบข่าวดีว่า ทีมมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสทราเซเนกา ได้ประกาศถึงความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนแล้ว ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้ถึง 70-90% อยู่ในระดับที่ “ดีมาก”
นอกจากนั้น วัคซีนที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสทราเซเนกา พัฒนาขึ้น จะสามารถผลิตออกมาได้ในราคาที่ถูกกว่า หากเทียบกับวัคซีนของที่อื่นๆ และสำคัญมากกว่านั้น คือวัคซีนนี้ มีความเหมาะสมกับประเทศไทยมากกว่า เพราะในขณะที่วัคซีนของที่อื่นๆ จำเป็นต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิ -20 ถึง -70 องศาเซลเซียส ตลอดเวลา ต้องใช้ตู้แช่เย็นที่ออกแบบพิเศษโดยเฉพาะ ทำให้มีข้อจำกัดทางด้านการขนส่งที่จะทำได้อย่างยากลำยากมาก แต่วัคซีนนี้ สามารถเก็บรักษาได้ไม่ยาก ในตู้เย็นธรรมดา ณ อุณหภูมิ 2 ถึง 8 องศาเซลเซียส สามารถขนส่งเพื่อกระจายวัคซีนไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดของไทยเราได้อย่างทั่วถึงและไม่ยุ่งยาก
เราคาดว่า วัคซีนนี้ น่าจะได้รับการอนุญาตให้ใช้ได้ และผลิตได้ในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งถ้าเราเร่งขั้นตอนต่างๆ ได้ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถเปิดรับคนจำนวนมากเข้าประเทศได้ และสามารถเริ่มสร้างฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาอีกครั้ง ขณะนี้ กำลังพิจารณาวางแผนกระบวนการ และขั้นตอนต่างๆ เพื่อเตรียมการสำหรับการกระจายวัคซีนไปให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศ ให้ได้อย่างรวดเร็ว ทันทีที่เราได้วัคซีน...”
อีกด้านหนึ่งศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงถึงกรณีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เก็บพลาสมาผู้เคยติดเชื้อโควิด-19 ในไทยและรักษาหายแล้ว มีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 มากกว่า 400 ถุง เพื่อเตรียมไว้รักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ว่า มีการนำพลาสมาไปรักษาผู้ป่วย 1 คน ในAlternative state quarantine ที่มีภาวะปอดบวมรุนแรง เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ออกซิเจนในเลือดต่ำต้องให้ออกซิเจนระดับสูง แต่หลังให้พลาสมาทันทีที่เข้าโรงพยาบาลและให้ 2 ครั้ง ล่าสุดผู้ป่วยอาการดีขึ้น ลดค่าออกซิเจนที่ให้ได้ เชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ได้อานิสงส์จากการให้พลาสมาค่อนข้างเร็ว
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติยังได้นำพลาสมาที่มีภูมิต้านทานโควิด-19 ระดับสูงไปสกัดทำเซรุ่มใช้ป้องกันรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ขณะนี้แบ่งพลาสมาครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่มาทำเซรุ่มได้มากกว่า 600 ขวดๆละ 2 ซีซีสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น โดยเก็บไว้ได้นาน 3 ปี แต่หากเป็นพลาสมาเก็บไว้ได้นาน 1 ปี ดังนั้น ส่วนที่ยังเหลืออยู่หากไม่ได้ใช้ จะนำมาสกัดเป็นเซรุ่ม ไม่แน่ใจว่าไทยเป็นประเทศแรกหรือไม่ ที่นำพลาสมามาทำเป็นเซรุ่มสำหรับป้องกัน รักษาโควิด-19
นับเป็นข่าวดีเกี่ยวกับการป้องกันโควิดในประเทศไทย ที่ความหวังของประชาชนในการกลับมาดำเนินชีวิตและประกอบกิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจกันได้ตามปกติหรือเกือบปกติอีกนั้น อยู่ไม่ไกล