สวัสดีเดือนเดือนธันวาคม เดือนสุดท้ายของปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่แสนจะหนักหนาสาหัส สำหรับประเทศไทย ที่ต้องเจอเหตุการณ์ร้ายหลายเรื่อง ทั้งเหตุอาชญากรรมสะเทือนขวัญครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเหตุปล้นร้านทองในห้างสรรพสินค้าที่และก่อเหตุยิงประชาชนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ที่จ.ลพบุรี เหตุเจ้าหน้าที่กราดยิงประชาชนในเมืองโคราชและห้างสรรพสินค้ากลางเมืองทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่มีเหยื่อเสียชีวิต ขณะที่ผลข้างเคียงจากมาตรการป้องกันได้ก่อให้เกิดโรคร้ายทางด้านเศรษฐกิจ กระทั่งปัญหาการเคลื่อนไหวชุมนุมทางการเมือง ที่เกิดเหตุเผชิญหน้าของมวลชนสองฝ่ายที่แยกเกียกกาย การก้าวเข้าสู่เดือนธันวาคม ที่เป็นเดือนแห่งความสุข ด้วยเริ่มนับถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่และมีเทศกาลเฉลิมฉลอง แต่เมื่อหันไปดูปฏิทินการเมืองไทย มีประเด็นร้อนๆ รออยู่ 2 วันสำคัญด้วยกัน วันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงหรือไม่ ตามคำร้องของพรรคเพื่อไทย กรณีการอาศัยบ้านพักทหาร กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ร.1ทม.รอ.) หลังเกษียณอายุราชการแล้ว ถือเป็นความผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 184 วรรค 3 คือ ขัดกันของผลประโยชน์ ถือเป็นการรับประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ โดยหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิด และสั่งให้พ้นสภาพรัฐมนตรีนั้น จะส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องพ้นสภาพตามไปด้วย โดยคณะรัฐมนตรีที่เหลือจะอยู่รักษาการณ์ก่อน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แม้นักวิเคราะห์หลายสำนักจะคาดการณ์ว่า ว่าผลคำวินิจฉัยจะออกมาเป็นบวก เนื่องจากมีข้อยกเว้นผู้เกษียณราชการแล้ว แต่ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ยังสามารถอาศัยอยู่ได้ตามปกติ เทียบเคียงกับกรณีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่พักอาศัยบ้านสี่เสาเทเวศร์ ก็ตาม อีกวันคือ วันที่ 20 ธันวาคม ที่กำหนดให้เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.)และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายก อบจ. ที่ถือเป็นการประเดิมสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรก หลังว่างเว้นมานานกว่า 8 ปี ที่นักวิเคราะห์ คาดการณ์ว่า สนามเลือกตั้งส.อบจ.และนายก อบจ. จะเป็นการแข่งขันที่ดุเดือด ที่ไม่ใช่การมุ่งหวังผลเรื่องคะแนนเสียงอย่างเดียว แต่มีการแข่งขันในเชิงนโยบายด้วย เนื่องจากตัวบุคคลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น มีอำนาจในการบริหารท้องถิ่น มีงบประมาณ และมักจะถูกวางให้เป็นฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง และพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบัน อิทธิพลของการเมืองระดับชาติ ที่มีการต่อสู้และความขัดแย้งสูง จะส่งผลให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีความรุนแรงมากขึ้น เห็นได้จากการลงพื้นที่หาเสียงของคณะต่างๆ และปฏิกิริยาต่อต้านการลงพื้นที่หาเสียงของกลุ่มการเมืองบางกลุ่ม ที่เชื่อมโยงกับการเคลื่อนไหวทของการเมืองระดับชาติ เราคาดหวังว่า ไม่ว่าผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และผลการเลือกตั้ง ส.อบจ. และนายก.อบจ. จะออกมาอย่างไร สังคใทยจะยังรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย และผ่านเหตุการณ์ต่างๆไปอย่างสันติ อารยะ ปราศจากผลกระทบในแง่ร้าย เพื่อคนไทยจะได้มีความสุขในเทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีที่กำลังจะมาถึงอย่างมีความสุขกันสักที