ความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายในสังคมไทย ที่ปะทุรุนแรงจนเกิดการเผชิญหน้ากันระหว่างมวลชนที่เห็นต่าง มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก จากสถานการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน ทำให้กระแสเรียกร้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต้องการให้เกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้น เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทั้งชนวนร้อนเฉพาะหน้า รวมทั้งหาแนวทางชำระสะสางปัญหาที่สั่งสมมา และวางรากฐานแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้เกิดการปะทุขึ้นอีกในอนาคต เพราะไม่มีใครอยากเห็นพัฒนาการของความขัดแย้ง ไปสู่สถานการณ์ทีเลวร้าย หรือสงครามกลางเมือง ที่ทำลายทั้งสภาพเศรษฐกิจ และสังคมไทยให้พังพินาศ เมื่อมีประตูไปสู่ทางออกของสถานการณ์ เพราะสงครามที่ยืดเยื้อ จะไม่มีทางจบลงได้โดยไม่มีการเจรจา ทั้งนี้ความคืบหน้าของกระบวนการแก้ไขปัญหาควมขัดแย้งทางการเมือง โดยกลไกของคณะกรรมการสมานฉันท์ ล่าสุด ผลการหารือร่วม 4 ฝ่าย ประกอบด้วย นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และนายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธาน มีมติเห็นชอบรูปแบบโครงสร้างคณะกรรมการสมานฉันท์ จำนวน 21 คน โดยมีที่มามาจาก 7 กลุ่ม ประกอบด้วย ตัวแทนจากรัฐบาล 2 คน ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 2 คน ตัวแทนจาก ส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน ตัวแทนจาก ส.ว. 2 คน ตัวแทนจากกลุ่มผู้ชุมนุม 2 คน ตัวแทนจากกลุ่มผู้มีความเห็นเป็นอย่างอื่น 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน โดย 3 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ 1 คนมาจากที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และ 4 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านปรองดองสมานฉันท์ โดยมีนายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ นายสุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้พอมีความหวัง ส่วนจะมากหรือน้อยและขนาดจะสู้กับปัญหาได้หรือไม่ ต้องรอดูในระยะยาว วันนี้เป็นเพียงการวางโครงสร้าง ต้องเห็นกรอบการพิจารณาก่อน จึงจะสามารถตอบได้ว่า จะมีความหวังหรือไม่ กระนั้น แม้จะกำหนดโครงสร้างออกมาแล้ว แต่ตัวบุคคลที่จะเข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการนั้น ก็ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง จะสร้างความศรัทธาให้มีต่อคณะกรรมการชุดนี้ และนำไปสู่ผลสำเร็จของเส้นทางสมานฉันท์ อย่างไรก็ตาม ระหว่างทาง ก่อนที่จะไปถึงวันที่ได้เห็นโฉมหน้าของคณะกรรมการสมานฉันท์ ก็พบว่ามีการสร้างเงื่อนไขเกิดขึ้นระหว่างทาง เหมือนวางกับดักไว้สองข้างทาง จากข้อสังเกตที่น่าสนใจ ของผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีต่อกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีการแต่งตั้งนายวิรัช รัตนเศรษฐ เป็นประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และตารางเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนไปถึงจะการเลือกตั้งใหม่ ที่ผศ.วันวิชิต มองว่าเป็นไปได้สูงว่า จะเลือกตั้งใหม่ราวๆ ต้นปี 2566 ฝ่ายรัฐบาล วุฒิสมาชิก จะอยู่ไปจนเกือบครบเทอมไม่ต้องเสียอะไรเลย ทำลายโอกาสแสดงความจริงใจ ต่อการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองลงไปเรียบร้อยแล้ว จึงได้แต่หวังว่ากระบวนการสมานฉันท์จะสามารถเยียวยาประเทศไทยได้ทันก่อนวันฝีแตก