แม้ความหวังในการผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 จะมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ขึ้นมา หลังมีข่าวความคืบหน้าที่บริษัทยาและศูนย์วิจัยหลายแห่งทั่วโลกกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขั้นตอนทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนมาก
ขณะเดียวกันก็มีรายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศ อ้างผลการศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดังในสหรัฐ เปิดเผยว่าขณะนี้ ประเทศที่ร่ำรวยทั่วโลกได้สั่งจองวัคซีนของบริษัทเวชภัณฑ์ต่างๆ ไว้แล้วกว่า 6,400 ล้านโดส และอยู่ระหว่างการเจรจาสั่งจอง 3,200 ล้านโดส เมื่อประเมินตัวเลขการผลิตของบริษัทเวชภัณฑ์แล้วเชื่อว่าวัคซีนต้านโควิด-19 จะไม่ถึงมือประเทศที่มีรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ภายในสิ้นปี 2564 อาจจะต้องรอวัคซีนไปจนถึงปี 2565
ขณะที่องค์การอนามัยโลก หรือWHO ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า เข้าใจว่าผู้นำประเทศต่างๆ ต้องการปกป้องประชาชนของตัวเองก่อน แต่อยากย้ำว่าการต่อสู้กับไวรัสต้องร่วมมือกัน
นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน กล่าวสุนทรพจน์ระหว่างเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ณ กรุงริยาดห์ผ่านระบบวิดีโอลิงก์ ถึงความจำเป็นในการสร้างกำแพงกันภัย (firewall) ระดับโลกเพื่อต่อต้านโควิด-19 จีนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการจำหน่ายวัคซีน ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามพันธะสัญญาเรื่องการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ตลอดจนการทำงานอย่างหนักเพื่อให้วัคซีนเป็นสิ่งสาธารณะที่พลเมืองของทุกประเทศสามารถนำไปใช้ได้
พร้อมกันนี้ นายสี จิ้นผิง ยังได้เสนอให้กลุ่มประเทศ G20ลดภาษีและอุปสรรคต่าง ๆ พร้อมส่งเสริมการเปิดเสรีทางการค้าสำหรับเวชภัณฑ์สำคัญ
สำหรับประเทศไทยอ นพ.ทวี โชติพิทยะสุนนท์ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค และกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย ว่าขณะนี้ไทยมีความร่วมมือการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ร่วมกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ส่วนการจัดซื้อวัคซีนนั้น ยังต้องรอให้ทางฝ่ายการเมืองเป็นผู้พิจารณาเลือกเปรียบเทียบในแต่ละบริษัทว่าจะเลือกบริษัทใด เนื่องจากการทดลองวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่ทุกบริษัทอยู่ในการทดลองเฟส 3 ซึ่งเป็นการทดลองในคน
โดยหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ได้แก่ 1.ความปลอดภัย ต้องมาเป็นอันดับ 1 ของการพิจารณา 2.ประสิทธิ
ภาพเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการติดตามผล 3.สร้างภูมิคุ้มกันได้นานแค่ไหน เพราะเนื่องจากวัคซีน โควิด-19 เป็นเรื่องใหม่ บางบริษัท ต้องใช้การฉีดมากถึง 2 เข็ม 4.ทางบริษัทมีการวางจำหน่ายขายในท้องตลาดหรือ ไม่ เพราะว่าบางบริษัทอย่างโมเดิร์นนา ของสหรัฐ เป็นการผลิตที่ได้รับทุนวิจัย จากสหรัฐอเมริกา จึงอาจไม่มีการจำหน่าย ให้กับประเทศอื่น และ 5.ราคาที่จำหน่าย ในท้องตลาด เป็นเรื่องของกำลังทรัพย์ และการตกลงกับบริษัท เพราะว่าอย่างบางประเทศมีการตกลงว่าจำหน่ายในราคา 6 ดอลลาร์ แต่สำหรับบางประเทศ อาจจำหน่ายให้ 12 ดอลลาร์เป็นต้น จึงถือเป็นปัจจัยที่มีความแตกต่าง ทุกสิ่งเหล่านี้ต้องนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ซึ่งยังไม่มีการตัดสินใจ ชัดเจนว่าจะเลือก บริษัทใดเพิ่ม สิ่งที่ฝ่ายการแพทย์ต้องทำ คือการเรียกดูข้อมูลทางวิชาการจากบริษัทที่ปล่อยข้อมูลและข่าวออกมาในสาธารณะเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินใจ และการศึกษาวิจัยและทดลอง
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ องค์การออนามัยโลก เพิ่งออกมาเตือนว่าจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีอัตราเพิ่มขึ้นสูงกว่าในช่วง 6 เดือนแรกของการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งทำให้แผนกผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลหลายแห่งในยุโรปและสหรัฐฯ ไม่สามารถรับผู้ป่วยเพิ่มได้อีก
ในขณะที่ประเทศยังไม่การระบาดที่รุนแรง และอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการดำเนินนโยบายเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจ บนความเสี่ยงทางด้านสาธารณสุขและพิษเศรษฐกิจ