ทีมข่าวคิดลึก
เสียงบ่นด้วยความคับข้องใจระคนปนกับอาการน้อยใจจาก "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุดในท่วงทำนองที่ว่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาต่างๆ มาตลอดแต่กลับต้องมาเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ถูกกล่าวหาเรื่องทำให้เศรษฐกิจตกต่ำและเรื่องการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ
"ผมแก้ปัญหาต่างๆ มาตลอด 3 ปี แต่กลับต้องมาเจอการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเก่าๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าเศรษฐกิจตกต่ำ และกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มต่างๆ
ซึ่งมองว่าเป็นการพูดแบบเดิมๆดังนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ ต้องทำทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อที่จะเจริญเติบโตไปด้วยกัน" (18 ก.ค.2560)
ดูเหมือนว่าสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์เปรยออกมาดังๆ ครั้งนี้ คือสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมาตลอดระยะเวลา ที่นั่งบริหารประเทศทั้งในฐานะ "ผู้นำรัฐบาล"และ "หัวหน้า คสช."
จนกลายเป็น "ช่องโหว่" ที่เปิดหน้าให้ ทั้งฝ่ายตรงข้าม ผู้คนในสังคมหรือแม้แต่ "แนวร่วม" ที่เคยสนับสนุน คสช. หันมาตั้งคำถามในท่วงทำนองเดียวกันไปโดยปริยาย
โดยเฉพาะประเด็นปัญหาที่ว่าด้วยเรื่องปากท้อง ซึ่งมีแนวโน้มที่รุนแรงมากขึ้น นับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 เป็นต้นมา ยิ่งเมื่อปัญหา
ภาวะเศรษฐกิจ กำลังถูกซ้ำด้วยปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำแม้รัฐบาลจะได้ออกมาตรการต่างๆเพื่อเร่งคลี่คลาย รวมถึงการเทเม็ดเงินงบประมาณลงไปก่อนหน้านี้แล้วก็ตาม
แน่นอนว่าฝ่ายรัฐบาลเองย่อมประเมินสถานการณ์ได้ไม่ยากนัก ว่าหากปัญหาปากท้อง ยังคงยืดเยื้อ ยืนระยะออกไปยาวนานเท่าไหร่ ยิ่งไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาล และ คสช. มากเท่านั้น โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายโรดแมป ของ คสช. เพราะหากเมื่อประชาชนอยู่ในสภาพ "กินไม่อิ่มนอนไม่อุ่น" มากแค่ไหน ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลมากเท่านั้น รวมถึงงานใหญ่ที่ต้องเดินหน้าต่อจากนี้
ทั้งการดำเนินภารกิจต่างๆ ของคสช. ทั้งในเรื่องของการสร้างความปรองดอง แผนงานยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี หรือแม้แต่ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบรรยากาศทางการเมือง อันจะมีส่งผ่านไปยัง บรรยากาศการเลือกตั้งด้วยเช่นกัน!
อย่างไรก็ดีเวลานี้มีความพยายามจากหลายกลไกในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ต่างหาทางออก ไม่เช่นนั้นแล้วจะต้องมาเผชิญหน้ากับปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตรรายอื่นๆ ที่รอปะทุขึ้นมาจ่อคิวจากราคายางพารา ที่ชาวใต้ประกาศอยู่ร่ำๆ ว่าพร้อมจะเดินหน้าเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ
ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนของรัฐบาลนั้นนอกเหนือไปจากการออกมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องใช้ "กลไก" ที่มีอยู่ในมือ ทุกกลไก เพื่อดำเนินยุทธวิธีด้วยกันหลายทาง หลากรูปแบบ ทั้งการเจรจานอกรอบ เพื่อทำความเข้าใจ สกัดกั้นไม่ให้ต้องเกิดม็อบประชาชนบุกมาเยือนถึงหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อกดดันถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ล้วนแล้วแต่เป็นความจำเป็นที่ต้องดำเนินการเช่นกัน!