ทวี สุรฤทธิกุล
คนรุ่นใหม่ที่ยังห่วงใยในความคงอยู่ของพระมหากษัตริย์ยังคงมีอยู่ไม่น้อย
วันก่อนผู้เขียนได้พูดคุยกับคนรุ่นใหม่คนหนึ่ง ความจริงเธอก็เป็นญาติห่าง ๆ และได้พบกันโดยบังเอิญ แบบว่านานปีทีหนจึงจะได้มาเจอกัน ผู้เขียนจึงขอเลี้ยงอาหารกลางวันและพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบกันและกัน ช่วงหนึ่งเธอพูดถึงม็อบเยาวชนว่าน่าจะมีต่างชาติหนุนหลัง แต่ที่เธอสงสัยมากก็คือทำไมเยาวชนเหล่านี้ไม่รักสถาบัน(พระมหากษัตริย์) และถามผู้เขียนว่า “คุณลุงคิดว่าพวกเขาจะทำสำเร็จไหม?”
ผู้เขียนเริ่มต้นด้วยการตอบปัญหาอันแรกที่ว่าม็อบนี้มีต่างชาติหนุนหลังหรือไม่ ซึ่งคำตอบก็คือ “มี” แต่คงเป็นม็อบบางกลุ่ม เพราะม็อบนี้มีหลากหลายกลุ่มด้วยกัน มีทั้งที่จัดตั้งกันมา และที่เข้ามาร่วมด้วยตามเชื่อความคิดที่มาต้องตรงกัน รวมถึงพวก “ผสมโรง” ที่มาร่วมเอาสนุก สร้างสีสัน หรือเอาเด่นเอาดัง หาพื้นที่ในการแสดงออก รวมถึงที่เราเรียกว่า “ไทยมุง” ซึ่งก็มีอยู่ไม่น้อย สำหรับม็อบที่มีต่างชาติหนุนหลังนั้น ก็ได้แต่คาดเดาว่าเขา(ต่างชาติ)คงจะต้องมีเป้าหมายอะไรบางอย่าง ถ้าในทางวิชาการเขาเรียกว่า “ผลประโยชน์แห่งชาติ” (คุยกับคนรุ่นใหม่ก็ต้องวางฟอร์มให้เป็นนักวิชาการนิด ๆ) เช่น ในสมัยก่อนช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกก็แบ่งเป็น 2 ค่าย คือค่ายคอมมิวนิสต์กับค่ายประชาธิปไตย ผลประโยชน์แห่งชาติจึงเป็นเรื่องของการต่อสู้ในทางอุดการณ์ เราเรียกว่า “สงครามเย็น” แต่ว่าในปัจจุบันเป็นยุคสงครามเศรษฐกิจ ผลประโยชน์แห่งชาติคือการแข่งขันกันในทางค้าขาย ยิ่งไปกว่านั้นการเมืองระหว่างประเทศก็ลดระดับลงจากระดับนานาชาติมาเป็นระดับกลุ่ม คือมีการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มที่ก็มีความหลากหลายเช่นกัน บางกลุ่มนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแอบแฝงโดยอาศัยประเด็นทางการเมือง เช่น ในการก่อม็อบนี้ก็เพื่อสร้างเรตติ้งให้กับเครือข่ายการสื่อสาร หรือเพื่อเพิ่มยอดกดไลค์กดแชร์ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้กลุ่มทุนจากต่างประเทศที่มาสร้างสถานการณ์ม็อบนี้ก็อาจจะหวังผลบางอย่างในทางเศรษฐกิจนั้นด้วย
คำถามต่อมาที่ว่าทำไมเยาวชนเหล่านี้ไม่รักพระมหากษัตริย์ ผู้เขียนก็ตอบด้วยหลักวิชาการที่พอจะรู้มาอยู่บ้างว่า น่าจะมีปัจจัยหลัก ๆ อยู่ 2 เรื่อง คือ หนึ่ง เยาวชนเหล่านี้ไม่ได้เกิดร่วมยุคสมัยกับพระมหากษัตริย์ที่ต้องทรงงานหนักอย่างรัชกาลที่ ๙ ที่คนในยุคก่อนสามารถรับทราบได้ตัวของพวกเขาเองทุกคน แต่เด็กเหล่านี้เติบโตมาในยุคที่มีการสื่อสารเปรียบเทียบ ที่นำเรื่องราวของรัชกาลที่ 10 ไปเปรียบเทียบกับรัชกาลที่ 9 ด้วยข้อมูลที่เป็นการจัดทำกันในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากกลุ่มที่มีอคติต่อสถาบัน แล้วเผยแพร่ถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นใหม่เหล่านี้อยู่เรื่อย ๆ ทำให้มุมมองในด้านบวกอย่างที่คนรุ่นเก่าเคยมีมาในสมัยรัชกาลที่ 9 ถูกบิดเบือนไปจากที่ควรจะเป็น และคนรุ่นใหม่ก็จะถูกปลูกฝังไปด้วยการระดมความเชื่อผ่านสื่อสมัยใหม่ ที่เป็นการสื่อสารในวงแคบ ๆ อย่างที่เรียกว่า “การสื่อสารเฉพาะกลุ่ม” จึงยิ่งทำให้เกิดความคิดความเชื่อในแบบที่ “เฮโลสาระพา” พากันไป อันเป็นการจับจุดของเยาวชนในทางจิตวิทยาที่ว่าเป็นช่วงอายุที่แปรเปลี่ยนได้ง่าย และถ้าหากถูกเสริมเข้าไปด้วยการวาดฝันอนาคต “อันแสนหวาน” ก็ยิ่งจะทำให้กระแสความรู้สึกเกลียดชังระบอบเก่านี้รุนแรงยิ่งขึ้น อย่างที่เราเห็นภาพการสื่อสารที่เกิดขึ้นในหมู่ของเยาวชนเหล่านี้
อีกปัจจัยหนึ่งก็คือ ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกทำให้เป็นประเด็นทางการเมือง ด้วยการเชื่อมโยงกันไปว่ากษัตริย์กับทหารนั้นเกื้อกูลกันและกัน และที่เผด็จการทหารยังคงอยู่และมีอิทธิพลเป็นอย่างมากนี้ ก็เนื่องด้วยการเกื้อหนุนของพระมหากษัตริย์นั่นเอง เราจึงเห็นว่าในการทำกิจกรรมของม็อบเหล่านี้จะเริ่มจากการต่อต้านเผด็จการทหาร แล้วมาผนวกเข้ากับการให้นายกรัฐมนตรีที่เป็นทหารและเป็นผู้นำในระบอบเผด็จการนี้ลาออก จนที่สุดก็คือการปฏิรูปสถาบัน ที่น่าจะมีความหมายถึงการให้พระมหากษัตริย์ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนี้ด้วย ซึ่งในเรื่อง “รูปแบบใหม่ของสถาบันพระมหากษัตริย์” นี้น่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ม็อบเยาวชนเหล่านี้ยังคงเคลื่อนไหวไปอีกยาวนาน เพราะทหารก็ยังคงต้องอาศัยการปกป้องพระมหากษัตริย์ปกป้องทหารให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะจากกลุ่มคนที่เชียร์ทหารนั่นเอง ที่จะหมดความไว้วางใจทหารทันทีที่ทหารไม่อาจจะปกป้องพระมหากษัตริย์ให้อยู่รอดต่อไปได้
ปัจจัยในส่วนที่สองนี่เองที่จะเป็นคำตอบให้กับคำถามสุดท้ายที่ว่า “แล้วพวกเขา(ม็อบเยาวชน)จะทำสำเร็จไหม” เพราะในความเชื่อของคนไทยจำนวนมากและนักวิชาการทางด้านรัฐศาสตร์ ก็ยังเชื่อว่าทหารไทยยังเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งและมีอำนาจมากที่สุดในสังคมไทย ดังนั้นคำตอบที่ได้จึงเป็นว่า ตราบใดที่ทหารยังคงเป็นปีกแผ่น และที่สำคัญก็คือยังคงมีความแนบแน่นอยู่กับพระมหากษัตริย์ ตราบนั้นก็ไม่มีใครทำอันตรายใด ๆ ให้แก่ทหารและพระมหากษัตริย์ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าทหารเกิดแตกแยกกัน หรือทอดทิ้งห่างเหินพระมหากษัตริย์ ไม่เพียงแต่ทหารจะมีอันตรายจนถึงสูญสลายไปได้ด้วยแล้ว ก็ยังเป็นอันตรายไปถึงพระมหากษัตริย์ที่อาจจะต้องสูญสิ้นไปด้วยเช่นกัน
ญาติเยาวชนของผู้เขียนดูเหมือนจะไม่ค่อยพอใจในคำตอบที่ได้รับนี้เท่าใดนัก เธอแย้งว่าแล้วประชาชนคนไทยไม่มีส่วนที่จะทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์นี้อยู่รอดได้ด้วยเหรอ คนไทยอย่างเธอนี่แหละที่จะปกป้องพระมหากษัตริย์ และจะรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ให้คงอยู่ตลอดไป ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้อธิบายความอะไรต่อไป เพราะค่อนข้างชัดเจนแล้วว่าขณะนี้สังคมไทยน่าจะแบ่งเป็น 2 ขั้วไปแล้ว คือพวกที่ปกป้องสถาบัน และพวกที่อยากเปลี่ยนแปลงสถาบัน และคงยากที่จะสมานเข้าหากันได้
ขึ้นอยู่กับว่าทหารกับพระมหากษัตริย์จะช่วยสมานประชาชนทั้งสองกลุ่มนี้ได้หรือไม่