ทองแถม นาถจำนง
พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิดในเรือ ที่ตำบลบ้านม้า (ปัจจุบันชื่อตำบลประศุก) เมืองอินทร์บุรี (ปัจจุบันเป็นอำเภอ) หนังสือ “นิราศตามเสด็จ” เขียนโดย พระยาอนุศาส์นจิตรกร พรรณนาเรื่องการตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ ประพาสนครไชยศรี สุพรรณบุรี อยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี เมื่อ พ.ศ 2466 (หลังจากพลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เกิด 2 ปี)
เนื้อหาในนิราศนั้นมิได้กล่าวถึงการเดินทางทางเรือผ่านอินทร์บุรี ข้าพเจ้าค้นหาต่อไป พบพระราชนิพนธ์ ร.5 บรรยายถึงเมืองอินทร์บุรี เมื่อคราวเสด็จประพาสต้น ในปี พ.ศ 2350 และพระราชนิพนธ์ ร.6 เรื่อง “นิราศมะเหลเถไถ” มีเนื้อความบรรยายถึงเมืองอินทร์บุรี ข้าพเจ้าขอคัดลอกมานำเสนอไว้เป็นหลักฐานสำหรับค้นคว้ากันต่อไป ที่ว่าต้องค้นคว้าต่อไป เพราะข้าพเจ้ายังไม่ได้ค้นว่า ขบวนเรือของพระองค์เจ้าคำรบในคราวเดินทางครั้งนั้น จอดเรืออยู่บริเวณใด หน้าวัดใด สถานที่เกิดจริง ๆ ของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช อยู่ตรงไหน ? มีคนอ้างข้อเขียนของ ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช ว่าขบวนเรือของพระองค์เจ้าคำรบ จอดที่ตำบลอื่น มิใช่ตำบลบ้านม้าเมื่อหลายปีก่อน โรงเรียนที่ตำบลประศุก (“บ้านม้า” เดิม) ก่อตั้งอนุสาวรีย์ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ขึ้น นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่ดีมาก
เรื่องสถานที่เกิดของพลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช นี้ ทาง อบต. ประศุก น่าจะสานงานต่อจากโรงเรียนที่ได้ตั้งอนุสาวรีย์ “คึกฤทธิ์”ไว้แล้ว และสำหรับชื่อ “บ้านม้า” ชื่อ“ประศุก” ที่ในเว็บ อบต.ประศุก บอกว่ากำลังค้นคว้าอยู่นั้น ข้าพเจ้าพบว่าในพระราชนิพนธ์ ร.5 พระองค์ท่านเรียกชื่อวัด ๆ หนึ่งว่า “วัดปลาสุก” ซึ่งมีชื่อใหม่ว่า “วัดสนามไชย” วัดสนามไชยทุกวันนี้เดิมมีชื่อว่าวัดปลาสุก ข้าพเจ้าเห็นว่า ชื่อนี้เองที่เพี้ยนเป็น “ประศุก” ที่ใช้เป็นชื่อตำบลกันอยู่ทุกวันนี้
จากหนังสือเรื่อง “คึกฤทธิ์ ๖๐” ม.ร.ว เสนีย์ ปราโมช เล่าเรื่องตอนน้อง (ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ) เกิดไว้ว่า เรือเทียบฝั่งค้างคืนที่บางปะอิน ตรงนี้น่าจะเป็นความทรงจำที่คลาดเคลื่อน บางปะอินกับอินทร์บุรี ห่างกันมาก ท่านเขียนไว้ว่า
“วันคุณคึกฤทธิ์ฯ เกิดเมื่อ 60 ปีมานี้ เราอยู่ในน้ำ พ่อท่านเป็นทหาร ต้องเดินทางโดยเรือถ่อเรือจูงขึ้น ๆ ล่อง ๆ อยู่เสมอ วันนั้นเมื่อเรือเทียบฝั่งเพื่อพักค้างคืนที่บางปะอิน ข้าพเจ้าสองคนกับน้อง คือ ม.ร.ว ถ้วนเท่านึก อายุราว 6 ขวบ 5 ขวบ เข้าป่ากับครูปลั่งไปเก็บเม็ดมะกล่ำตาหนู ไปได้สักหน่อยฝนตั้งเค้าดำทั่วทุกทิศ พายุพัดแรง ครูบอกว่ากลับเรือกันเถิด สงสัยว่าน้องจะเกิด กลับไปถึงเรือ วัดที่ฟากตรงข้ามมีงานอะไรไม่ทราบ เสียงกลองปี่ระนาดกำลังประโคมแข่งกับเสียงพายุและฝน เรือแม่ปะในขบวนถูกพายุซัดขึ้นไปบนฝั่ง แล้วน้องก็เกิดจริง ๆ เป็นผู้ชาย หูกาง”
ต่อไปนี้ขอนำเสนอพระราชนิพนธ์ ร.5 จากหนังสือ “จดหมายเหตุ เรื่องเสด็จประพาสต้นในรัชชกาลที่ ๕ ครั้งแรกและครั้งที่ ๒” (ต้นฉบับเดิมใช้คำว่า “รัชชกาล” เสด็จประพาสในปี พ.ศ 2350) พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองเสวกเอก พระมหุสสวนานุกิจ (เลื่อน ภมรสุต) ปีระกา พ.ศ 2476 ดังต่อไปนี้
.......................................
(พระราชนิพนธ์ เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง หน้า 58- 60 )
“วันที่ 8 เช้า 2 โมง ออกเรือ เขาเตรียมจะให้พักกลางวันวัดเวฬุวันวัตยาราม แต่เห็นยังเช้านักจึงได้เลยขึ้นมาจนถึงที่ว่าการอำเภอเมืองอินทร์ แวะจอดที่นั้น ถ่ายรูป ให้พระยาโบราณมาตรวจดูหน้าวัดปลาสุกว่าจอดได้ เลื่อนเรือมาจอดหน้าวัดปลาสุก 5 โมงเศษ วัดนี้เป็นที่พระครูอินทมุนีอยู่ ชื่อใหม่เรียกว่าวัดสนามไชย ดูเป็นวัดโบราณมากต้นไม้ใหญ่ แต่ฝีมือเลว ๆ เอาโบสถ์เข้าไปไว้ในหมู่ไม้ลึกห่างท่าน้ำมาก เดิมเข้าใจว่าหลังข้างในสุดซึ่งเป็นผนังตึกจะเป็นโบสถ์ แต่ไม่ใช่ กลายเป็นวิหารไป พระอุโบสถนั้นเสาไม้รูปร่างเหมือนการเปรียญ ตั้งต่อออกมาข้างหน้า มีหน้าพระเมืองสรรค์งามอยู่หน้าหนึ่ง ปั้นพระองค์เป็นปูนต่อขึ้นไว้ ถามได้ความว่าไปเอามาแต่วัดตรงข้ามฟาก ได้บอกให้พระยาโบราณมาทำพระเศียร
ทำกับเข้าในหมู่ต้นไม้ลานวัดข้างกุฏิ พระครูอินทมุนีนี้เป็นหมอ แต่เป็นหมอยามากกว่าหมอเศกเป่า ชาวบ้านนับถือ ฟังตาผู้ใหญ่บ้านมาลือต่าง ๆ แกชื่อบุญ เติมลือ ให้เป็นชื่อบุญลือ เรื่องลือที่หนึ่งนั้น คือว่าโหรถวายฎีกา ว่าจะได้ผู้มีบุญ จึงได้เสด็จออกไปในเมืองตะวันตก ได้ลูกเงาะ (หมายถึงนายคะนัง ลูกชาวเงาะป่าเมืองพัทลุง ..........ผู้เขียน) มาคนหนึ่งโปรดมาก ถึงจะทำอย่างไร ๆ ต่อหน้าขุนนางก็รับสั่งไม่ให้ใครว่ากล่าวห้ามปราม การที่เสด็จมาครั้งนี้ เมืองพิชัยมีใบบอกลงไป ว่าเกิดต้นโพธิ์ขึ้นต้นหนึ่ง ใบขาวเป็นเงิน จึงได้เสด็จขึ้นมาทอดพระเนตรต้นโพธิ์เงิน อีกนัยหนึ่งว่าจะมาตรวจสุขทุกข์ของราษฎร ห้ามไม่ให้กะเกณฑ์และอื่น ๆ
กลับลงมาจากวัด บ่าย 2 โมง 40 ออกเรือมาถึงอำเภอสรรยาเวลาบ่าย 5 โมงเกินเล็กน้อย เท้าเวสสุวรรณ คือพระยาอมรินทร (พระยารัตนกุลอดุลยภักดี – จำรัส รัตนกุล เวลานั้นเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์.....ทองแถม) ลงมาคอยอยู่แล้ว ที่นี่หูรุขึ้นไปกว่าที่อื่นด้วยอดไม่ได้ ถึงตีรั้วแทนฉนวนกั้น และตามไฟ ขึ้นเดินไปประมาณ 20 เส้น ไม่มีอะไรที่จะพึงดูเลย กลับมาดูทหารไชยนาทซึ่งเจ้าคำรบ (คือพระองค์เจ้าคำรบ เวลานั้นยังเป็นหม่อมเจ้า ตำแหน่งนายพลผู้บัญชาการทหารบกมณฑลนครสวรรค์......ทองแถม)พาลงมา เป็นน่าดูกว่าอื่น ๆ หมด เอาลงมารักษาการ 50 คน เวลาคำนับร้องเพลงสรรเสริญบารมีเรียบร้อย ได้ไปลองทักทายตั้งแต่นายสิบจนลูกแถว พูดจาคล่อง พิจะค่ะ ขอรับ เป็นทุกคน หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสเหมือนคนคุ้นเคย เป็นคนหนุ่ม ๆ ทั้งสิ้น”
.......................................
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ห้า ทรงพอพระราชหฤทัยผลงานของ “พระองค์เจ้าคำรบ” ผู้บัญชาการมหารบกมณฑลนครสวรรค์ในขณะนั้นมาก การเดินทางทางน้ำ ช่วงระหว่างสิงห์บุรีถึงสรรพยา มีบันทึกใน “นิราศมะเหลเถไถ” พระราชนิพนธ์ ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่หก เมื่อทรงเสด็จประพาสในปี พ.ศ 2465 นิราศเรื่องนี้ทรงพระราชนิพนธ์เชิง “ล้อ” แม้เนื้อความจะไม่สลักสำคัญ แต่ก็เป็นหลักฐานได้ชิ้นหนึ่ง
การเดินทางทางเรือจากสิงห์บุรีนั้น ในหลวงรัชกาลที่หก บันทึกสถานที่ซึ่งเรือผ่าน ไว้ตามลำดับดังนี้
ออกจากสิงห์บุรี - สังฆราชาวาศ – วัดที่มีพระผู้ใหญ่อยู่ (ไม่รู้ชื่อวัด) - บ้านใหม่ - วัดจันทร์ – บ้านบางมัน – วัดสมัคใจ – วัดกะดังงา – วัดยาง – วัดธรรมจักร – วัดศรีสำราญ – อินทร์บุรี – บ้านสวนหลวง - บ้านปลาไหล – วัดโฉมศรี – บ้านชีน้ำร้าย – วัดทยาน – วัดระนาม – บ้านขนุน – บ้านโพนางดำ –วัดมะปราง – วัดสมุท – อำเภอสรรพยา
เนื้อความตอนผ่านอินทร์บุรี มีดังนี้
“อินทร์บุรีพี่ขอตล๋าต๋า ไหว้เทวาธิราชมะฮาดไห
ขอองค์อินทร์ช่วยกะตินกะไตไล ประทานพรวรอนไขวไรเช
เกิดชาติใดขอให้พบมะฮบฮัด พระไตรย์รัตน์สรณามะฮาเห
ได้เป็นข้าจอมกษัตริย์วรัดเช ได้เป็นคู่เสน่เหแก้วกานดา
บ้านสวนหลวงหมึงมะกึงกิ๊ด นึกถึวสวนดุสิตวินสสา
ที่เขาดินพายุพินกะปินลา ชมพฤกษากะเปินเลินเพลิดเพลินใจ
อีกนึกสวนสราญรมย์มะกมเก็ก เมื่อเล็ก ๆ เคยไปเล่นมะเก็นไก๋
แสนสนุขสุขเกษมกะเมมไม พร้อมสหายร่วมใจกะไมมาม”
...............................
ท่านผู้ใดมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานที่เกิดของ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช กรุณาส่งถึงข้าพเจ้า อีเมลล์ [email protected] หรือส่งไปรษณีย์มาที่สยามรัฐ จะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการมากครับ