เสรี พงศ์พิศ www.phongphit.com คนส่วนใหญ่อาจคาดไม่ถึงว่า เศรษฐกิจนอกระบบมีสัดส่วนกว่าหนึ่งในสามของระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะพูดถึงเศรษฐกิจก็คิดถึงกิจการระดับชาติและข้ามชาติ ขายอาหารขายเครื่องดื่ม คิดถึงบริษัทยักษ์ใหญ่การเงินการธนาคาร ตลาดหลักทรัพย์ บริษัทก่อสร้างที่รับเหมาทีเป็นหมื่นเป็นแสนล้าน ใครจะไปคิดว่า คนขายของบนทางเท้า หาบแร่แผงลอย ตลาดนัด พวงมาลัยตามสี่แยก ของกินของใช้ ข้าวต้มขนมต่างๆ จากชุมชนแออัด ร้านอาหารตามสั่งหลังคามุงจาก ร้านเพิงหมาแหงนข้างถนน กลุ่มคนเล็กๆ ที่รับเหมาก่อสร้างงานช่วง ฯลฯ รวมกันแล้วจะมีปริมาณมากมายขนาดนั้น อยากประเมินความสำคัญของเศรษฐกิจนอกระบบลองพิจารณาผลกระทบเรื่อง “แรงงานต่างด้าว” ที่เพิ่งเกิดขึ้นก็ได้ ส่วนใหญ่อยู่ในภาค “นอกระบบ” ที่ได้รับผลกระทบมาก ส่งผลกระเทือนไปถึงเศรษฐกิจโดยรวม ทุกวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศน่าจะมาจากเศรษฐกิจ “นอกระบบ” ที่อ่อนกำลัง มีคนที่สะกิดให้ทั่วโลกสนใจเรื่อง “เศรษฐกิจนอกระบบ” ชื่อ แอร์นันโด เด โซโต ซึ่งหลายปีก่อนเขียนหนังสือโด่งดังชื่อ “ความเร้นลับของทุน” (The Mystery of Capital) เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวเปรู ผู้อำนวยการสถาบันอิสรภาพและประชาธิปไตย รับงานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยสมัยรัฐบาลทักษิณ ยุคนั้นคนไทยได้รู้จักนโยบาย “แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน” เป็นครั้งแรก ซึ่งปรับทัศนคติของคนเกี่ยวกับ “ทุน” คำหลักที่ เด โซโต ใช้อธิบายความแตกต่างของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาว่าอยู่ที่แนวคิดเรื่อง “สิทธิในสินทรัพย์” ที่แปรเป็นทุนได้นี่เอง ในยุครัฐบาลทักษิณ แนวคิดนี้ทำให้คนในเศรษฐกิจนอกระบบเข้าถึงแหล่งทุนได้มากขึ้น สามารถเอา “บาทวิถี” ไปขอกู้เงินจากธนาคารได้ เอา “แผง” ขายผักขายปลาในตลาดไปกู้เงินในระบบได้ แม้ว่าทั้งบาทวิถีและแผงในตลาดก็ไม่ใช่ของตนเอง แต่มีคุณค่าและอยู่ในบริบทที่ทำให้เกิดมูลค่าได้ ประเด็นอยู่ที่ว่า จะส่งเสริมเศรษฐกิจนอกระบบอย่างไรให้เติบโตจนเข้าสู่ระบบได้ในที่สุด หาความลงตัว ความสมดุลระหว่างการจัดระเบียบทางเท้า สุขอนามัยของกทม. กับการส่งเสริมการท่องเที่ยว ส่งเสริมร้านอาหารริมถนนที่ได้รับการยกย่องจาก CNN ว่ายอดเยี่ยมที่สุดในโลกส่งเสริมร้านอาหารที่ถนนข้าวสาร เยาวราชหรือที่อื่นๆ อีกหลายแห่งที่กำลังตามมา รวมทั้งในเมืองใหญ่ๆ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ทำอย่างไรให้คนที่หาบแร่แผงลอยจริงๆ มีโอกาสได้ขายของได้ด้วย เพราะถึงเข้าแหล่งทุนได้ ประเด็นจึงไม่ใช่เพียงสอนให้จับปลา แต่ให้โอกาสจับปลาด้วย ใครไปตลาดน้ำอัมพวาสุดสัปดาห์จะเห็น “เศรษฐกิจนอกระบบ” ได้อย่างชัดเจน เป็นตลาดไทยๆ ที่มีของกินของใช้ราคาไม่แพง ที่ชาวบ้านเอามาขายเอง เช่นเดียวกับที่สามชุก ที่เชียงคาน และอีกหลายแห่งที่สืบทอดวัฒนธรรมและวิถีชุมชนดั้งเดิมได้อย่างมีพลัง หลายปีก่อน คุณวิวัฒน์ เชาวนสมบูรณ์ นายกเทศมนตรีหนองบัวระเหว ชัยภูมิ มีนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนแบบครบวงจร เริ่มจากการส่งเสริมการศึกษา ให้ผู้นำชุมชนเรียนใน “โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต” จนจบหลายร้อยคน เป็นผู้นำในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นให้พึ่งพาตนเอง นายกฯ เองลงมือทำเกษตรผสมผสานด้วยตนเองในพื้นที่ 4 ไร่ ส่งเสริมให้ผู้คนนำผักผลไม้จากสวนจากนามาขายที่ตลาดเทศบาล แม้แต่ผักกำสองกำก็นำมาขายได้โดยไม่ต้องเสียค่าที่ค่าแผง เป็นแรงจูงใจให้คนเฒ่าคนแก่ปลูกผักและนำที่เหลือกินในสวนมาขาย เป็นการลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ มีเงินไปซื้อข้าวของในตลาดติดไม้ติดมือกลับบ้านบ้าง ที่บ้านสำโรง-ตะคร้อ ตำบลพรสำราญ อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ชาวบ้านลงมือปลูกผักกินเองแทบทุกครัวเรือน เหลือกินก็นำมารวมกันให้คนเฒ่าคนแก่มาช่วยกันแบ่งเป็นมัดเล็กๆ มีรายได้คนละ 30-40 บาท วันหนึ่งทำได้ 2,000-3000 มัด นำไปขายที่ตลาดเทศบาลบุรีรัมย์ ที่ผู้ว่าฯช่วยจัดหาที่ให้ ก่อนนี้ขายมัดละ 1 บาท ตอนนี้ขาย 3 มัด 5 บาท ขายดี เพราะราคาถูกและปลอดสารเคมี เศรษฐกิจชุมชนส่วนใหญ่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบ มีศักยภาพที่จะพัฒนาได้สูงมาก ปัญหาชุมชนไม่ใช่เพราะจนทรัพยากร จนแรงงาน หรือจนเงิน แต่จนปัญญา ขาดการเรียนรู้ การส่งเสริมให้ทำทุกขั้นตอนด้วยตนเอง ตั้งแต่ผลิตไปถึงขาย ไม่ใช่ได้แต่ผลิต แต่ขายไม่เป็น ความจริง ใช้สมาร์ทโฟนเป็นก็ขายทางไอทีได้ ลูกหลานเรียนมัธยมอุดมศึกษา ช่วยทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ก็ควรกลับไปไถนา ปัญหาเหล่านี้จะลดน้อยและมีทางออกถ้าชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ร่วมกันหาทางออก คนที่คิดเป็นคงไม่มีแต่นักธุรกิจหรือเจ้าสัว และคนที่ทำเป็นไม่ได้มีแต่ “ประชารัฐ” เพราะศักยภาพและทุนของชาวบ้านและชุมชนวันนี้ ไม่มี “ความเร้นลับ” อะไรอีกแล้ว อยู่ที่ว่าฝ่ายนโยบายมองเห็นหรือไม่เท่านั้น