เสรี พงศ์พิศ
www.phongphit.
เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Facebook, Twitter บอกว่า ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ได้ปลดหรือลบข้อความที่เป็นเท็จเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสจากแพลตฟอร์มไป 7 ล้านข้อความ และได้แจ้งเตือนอีก 98 ล้าน
นี่เพียงโควิด-19 เพียงเรื่องเดียว ถ้ารวมเรื่องอื่นๆ ทั้งหมด เห็นบอกว่าเป็นพันล้านเลยทีเดียว แล้วข้อความเหล่านั้นย่อมส่งผลร้ายต่อชีวิตและสังคม เพราะมีคนเชื่อไม่น้อย
ดูแค่ทวิตเตอร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เขียนเป็นรายวันก็ถูกลบถูกเตือนไปเป็นจำนวนมาก ข้อความเหล่านั้นมีผลต่อสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาอย่างแน่นอน เพราะสร้างความสับสนให้ประชาชน เกิดการต่อต้านมาตรการป้องกันโควิดในรัฐต่างๆ
จึงไม่แปลกที่วันนี้มีผู้ติดเชื้อกว่า 11 ล้านคน ตายกว่า 250,000 คน ในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยและก้าวหน้าที่สุดด้านการแพทย์และวิชาการ ที่ประธานาธิบดีไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานว่ามีการโกง ปฏิเสธวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าเรื่องโควิดหรือโลกร้อน
ที่น่ากลัวก็เพราะแนวคิดของผู้นำเช่นนี้ถูกส่งออกเป็นรายวัน และแพร่ไปตามโซเชียลมีเดีย แชร์ต่อเป็นลูกโซ่ มีผลให้การเลือกตั้งของสหรัฐฯวุ่นวายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เลือกมาสองสัปดาห์ยังออกไปประท้วงเต็มถนน เชื่อที่นายทรัมป์บอกว่า เขาถูกโกงด้วยข้ออ้างมากมายแต่ไม่มีหลักฐาน ศาลก็ไม่รับ คณะกรรมการเลือกตั้งก็ประกาศว่า เป็นการเลือกตั้งที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์
นั่นแหละ รับรองกันขนาดไหน ประชาชนก็เชื่อในทฤษฎีสมคบคิด ว่าพวกเดโมเครต พวกสื่อ พวกนายทุน พวกเกลียดทรัมป์สมคบกันโกงครั้งมโหฬาร เพราะได้อ่านในโซเชียลมีเดีย
นี่อเมริกา ที่ได้ชื่อว่าเจริญพัฒนา แต่ก็ต้านความแรงของโซเชียลมีเดีย และอำนาจมืดของมนุษย์ไม่ได้ ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองที่ทำได้ทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ชัยชนะ แม้ด้วยการโกหกหลอกลวง
แล้วบ้านเราที่ “เจริญพัฒนา” น้อยกว่าอเมริกาจะเป็นอย่างไร ข่าวปลอม ข่าวปล่อยเต็มไปหมดจนยากจะแยกจากข่าวจริง
นายทรัมป์ชนะการเลือกตั้งครั้งก่อนก็มีข่าวการใช้ข้อมูลจากเฟซบุ๊กประกอบการวิเคราะห์เพื่อส่งข้อมูลไปยังผู้เลือกตั้งที่ยังลังเล ให้หันมาเลือกนายทรัมป์ เรื่องจริงที่ไม่ใช่ทฤษฎีสมคมคิดนี้ถูกเปิดเผย จนบริษัทแคมบริจช์ อะนาลิติกาที่ทำงานชิ้นนี้ให้นายทรัมป์ต้องปิดตัวลง
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การนำข้อมูลจากแพลตฟอร์มใหญ่ที่ครองโลกอยู่ในขณะนี้ไม่ว่าเจ้าไหนถูกนำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการเมือง แม้เจ้าของจะบอกว่า ไม่สามารถเข้าถึง “เนื้อหาสาระ” ในตัว message ของผู้ใช้ ได้แต่ข้อมูลพฤติกรรมจากการใช้สื่อของสมาชิกเท่านั้น
แต่ที่น่ากลัวที่บ้านเราวันนี้ คือ “สงครามข้อมูลข่าวสาร” ที่มีการจัดการเพื่อผลทางการเมือง ซึ่งเรียกกันว่า IO (information operation) หรือปฏิบัติการข่าวสาร ที่คงไม่ได้มีแต่ฝ่ายปกครองและอำนาจรัฐที่ทำได้ แต่ “ใครๆ” ก็ทำได้ ดังกรณีของขบวนการปลดแอกของเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะด้านไอทีดีอยู่แล้ว
ไอโออาจจะไม่ได้ใช้ข้อมูลเท็จ หรือสร้างข่าวหลอกข่าวปลอม เพราะจะทำให้ลดความน่าเชื่อถือในท้ายที่สุด แต่ที่น่ากลัวกว่าคือการใช้ “ข่าวจริง” หรือข้อเท็จจริงแบบ “จริงเกือบหมด” หรือความจริงด้านเดียว หรือเสนอแต่ด้านดีเท่านั้น ไม่มีด้านไม่ดีเลย มีแต่จุดแข็งไม่มีจุดอ่อน
ยิ่งโพสต์หรือระดมส่งต่อข้อมูลที่ทำต่อเนื่องและจำนวนมาก สร้างความน่าเชื่อถือให้ประเด็นนั้นๆ เหล่านี้น่าจะสังเกตได้ในเฟซ ในไลน์ ในทวิตเตอร์ ในยูทูบ
เมื่อก่อน รัฐอาจจะมีอำนาจควบคุมเครื่องมือสื่อสารสาธารณะใหญ่ๆ อย่างโทรทัศน์ วิทยุ รวมทั้งหนังสือพิมพ์ด้วยที่อาจไม่ถูกปิด แต่อาจถูกเตือน แต่วันนี้ภาคประชาชน ประชาสังคมสามารถสร้างสื่อได้เอง แต่ก็กระจัดกระจายและไม่มีองค์กรไหนช่วยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารที่ส่งต่อกันได้ เพราะมีจำนวนมหาศาล
ความน่ากลัวของโซเชียลมีเดียวันนี้ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือของอำนาจรัฐอำนาจทุน น่าจะเป็นไอโอที่ว่านี้ที่มาอย่างแนบเนียน ทำให้ผู้บริโภคสื่อเหมือนกบในหม้อ ถ้าไฟร้อนทันทีกบคงกระโดดหนี แต่เมื่อมันค่อยๆ ร้อน กบก็หนีไม่ทัน ตายในหม้อ
การใช้โซเชียลมีเดียมีข้อดีมากมาย ทำให้เราติดต่อสื่อสารกับใครต่อใครสะดวกสบายได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้ไม่เหงา ได้ข้อมูลข่าวสารมากมายผ่านสื่อ ทั้งข้อมูลส่วนตัวส่วนรวม ทุกอาชีพไม่มีเวลาให้อยู่ว่างๆ หายใจทิ้งแบบเมื่อก่อน เป็นสังคมก้มหน้าตลอดเวลา
แต่ข้อเสีย คือ การถูกครอบงำจากข้อมูล “ดีๆ” ที่มาแบบมีอคติ เอียงข้าง ระดมอยู่ข้างเดียว และข้อมูลจริงบ้างไม่จริงบ้าง จริงครึ่งเดียวก็คือเท็จ ไปจนถึงข้อมูลปลอม การใส่ร้ายป้ายสี การดูถูกดูหมิ่น ทำลายชื่อเสียงของคนอื่น
การใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องใช้สติให้มาก ใช้วิจารณญาณในการอ่านในการฟังการชม การแชร์ต่อข้อมูล การเขียนข้อมูลข้อความเองก็เช่นกันโดยเฉพาะการวิพากษ์วิจารณ์ ยิ่งต้องระวังให้หนัก เพราะบางครั้งวิจารณ์กับด่าหาเส้นแบ่งไม่ค่อยได้ มือพาไป กลอนพาไป แล้วอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ขอโทษด้วย ซึ่งหลายกรณีเขาไม่ยอมยกโทษง่ายๆ ที่ถูกด่าถูกใส่ความเสียชื่อ ผิดพรบ.คอมฯ ต้องขึ้นโรงขึ้นศาลไม่สนุก
คนไทยไม่ได้อ่านหนังสือปีละ 8 บรรทัดต่อปีแล้ว เพราะอ่านกันทุกวันๆ ละหลายชั่วโมงก็มี ถ้าดาบนี้มีสองคม นอกจากจะอ่านจากมือถือมาก อยากแนะนำให้เขียนให้มาก ฝึกหัดเขียนให้เป็น ซึ่งน่าจะง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก เหมือนวันนี้ที่ “ใครๆ ก็ร้องเป็น” เมื่อมีคาราโอเกะ ต่อไปอยากให้ “ใครๆ ก็เขียนเป็น” เพราะมีโซเชียลมีเดีย
มีคนสอนเรื่องการเขียนในยูทูบ ในกูเกิ้ล แต่ไม่สำคัญเท่ากับการลงมือเขียน แล้วโพสต์ลงในเฟซในไลน์ ทวิตเตอร์ อินตาแกรมของเราเอง ฝึกเขียนให้น่าอ่าน ฟังคำวิจารณ์ของเพื่อน ของผู้อ่าน ขอคำแนะนำ ไม่นาน เราจะมีนักเขียนโซเชียลดีๆ เพิ่มขึ้นมาก หรือมีคนเปิดแพลตฟอร์มส่งเสริมนักเขียนแล้วก็ไม่ทราบ
การคิดกับการเขียนไปด้วยกัน เขียนเป็นก็คิดเป็น คิดเป็นก็เขียนเป็น บ้านเมืองต้องการคนคิดเป็นมากๆ จะได้พ้นจากวิบากกรรมที่ส่วนใหญ่มาจากการคิดไม่เป็น จากความไม่รู้ ด่วนสรุป เชื่อง่าย