หากไม่มีการพลิกล็อก นายโจ ไบเดน จะได้เป็นประธานาธิบดี 46 ของสหรัฐอเมริกา หลังได้รับชัยชนะจากผลการเลือกตั้ง แบบคาดการณ์ เหนือนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังกลายเป็นอดีตประธานาธิบดี แม้ยังต้องรอผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 14 ธันวาคม 2563 ก็ตาม
แต่นายโจ ไบเดน ก็ประกาศเดินหน้าภารกิจเร่งด่วน 4 ประการแล้ว ประกอบด้วยการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 การฟื้นฟูเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาความเท่าเทียมกันเชิงชาติพันธุ์ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยไม่สนใจกระแสคัดค้านจากคู่แข่ง
กระนั้น ในบริบทของประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ของประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้นำของมหาอำนาจแห่งโลกตะวันตกแล้ว ก็ดูเหมือนว่า การมาของประธานาธิบดีคนใหม่สร้างความสดใสให้กับเศรษฐกิจไทยมากกว่า
โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คาดว่านายโจ ไบเดน จะหันมาใช้เวทีพหุภาคีในการเจรจาทางการค้ามากขึ้นกว่าการใช้เงื่อนไขระหว่าง 2 ประเทศ คือสหรัฐและประเทศคู่ค้าทีละประเทศ ซึ่งถ้าเป็นรูปแบบนี้ก็จะเป็นเวทีให้ประเทศไทยสามารถร่วมกับอาเซียนในการเจรจาต่อรองกันได้มากขึ้น หรือไปใช้กลไกขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเวทีการค้าพหุภาคีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ไบเดนจะหันมาให้ความสำคัญกับ WTO มากขึ้น และจะให้ความสำคัญกับนโยบายอินโด-แปซิฟิก หมายความว่าจะให้ความสำคัญกับกลุ่มประเทศในมหาสมุทรอินเดียกับกลุ่มประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีประเทศไทยร่วมอยู่ในนั้น ดังนั้น ไทยก็จะได้ประโยชน์ และไทยก็เป็นตัวร่วมอยู่ในกลุ่มประเทศหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) จีนจะเป็นหัวเรือใหญ่
ดังนั้น ไทยจะอยู่ร่วมทั้ง 2 ส่วน คืออินโด-แปซิฟิก และอาร์เซ็ป ที่กำลังจะมีการลงนามร่วมกันในอีกไม่นาน จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ และที่สำคัญตัวเลขทางการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ เพิ่มสูงขึ้น บวกถึงร้อยละ 7 กว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งเดือนตุลาคมที่ผ่านมา บวกถึง 20% คาดว่า ตัวเลขการส่งออก มูลค่าการค้าไทย-สหรัฐน่าจะขยายตัวดีขึ้น ซึ่งเราติดตามประเมินผลโดยทำงานร่วมกับภาคเอกชนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณบวกสำหรับการค้าโลกและประเทศไทย
ขณะที่นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)กล่าวว่า เมื่อนายไบเดน ชนะการเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก เนื่องจากนายไบเดน มีมาตรการที่จะดูแลปัญหาการขาดดุลการค้าแต่จะปรับมาตรการให้นุ่มนวลยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับนายทรัมป์ขณะเดียวกัน ปัญหาสงครามการค้าจะคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะได้อานิสงส์จากมาตรการดังกล่าว ที่นายไบเดน จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่จะเป็นตัวช่วยเรื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯและจะเชื่อมโยงเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ นโยบายการขึ้นค่าแรงของนายไบเดน อาจจะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตจากสหรัฐฯมายังประเทศอื่นได้ ซึ่งอาจจะเป็นผลดีกับไทยด้วยขณะเดียวกัน ในด้านเงินทุนไหลออกจากมาตรการขึ้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 อาจจะกระทบให้บริษัทที่ลงทุนในสหรัฐฯนำเงินไปลงทุนในประเทศเกิดใหม่มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงด้านเศรษฐกิจที่ไทยต้องเตรียมรับอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของสหรัฐฯ หากแต่ทุกภาคส่วนต้องถอดรหัสภารกิจเร่งด่วนของว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในแต่ละด้าน ไปศึกษาและเผื่อใจเตรียมรับรับ ในด้านร้ายเอาไว้บ้าง