ข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยว่า สถานการณ์คนว่างงานในไตรมาส 2 ถึง 700,000 คน ถือว่าหนักมาก และคาดการณ์แนวโน้มในไตรมาส 3 จะรุนแรงและเห็นชัดยิ่งขึ้น โดยระบุว่าอีก 2.5 ล้านคนอยู่ในข่ายตกเงินเพิ่มเติม เนื่องจากผู้ประกอบการสายป่านไม่ยาวพอ ไปต่อไม่ไหวต้องเลิกจ้างพนักงานโดยยอมจ่ายค่าชดเชย
ทีดีอาร์ไอ ยังมองว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ไปจนถึงกลางปีหน้า โดยคาดว่าต้นปีหน้าอาจมีคน 2-3 ล้านคน ต้องออกจากระบบการทำงาน โดยไม่มีเงินออม เงินเก็บและไม่มีกิน ซึ่งรัฐบาลต้องรีบเข้ามาอุดหนุนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสังคมตามมา
ทีดีอาร์ไอ ยังเสนอให้ข้าราชการ รัฐวิสาหกิจกลุ่มที่ได้รับเงินบำนาญ ประมาณ 5-6 ล้านคน ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เนื่องจากขณะนี้การบริโภคภาคเอกชนหยุดชะงักไม่เดินหน้า ทุกคนระมัดระวังการใช้จ่าย ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะเงินฝืด เพราะไม่มีการลงทุนเพิ่มเติม ทำให้ไม่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการลงทุน ต้องอาศัยการลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ของรัฐเป็นหลัก
และเสนอให้ช่วยเหลือคนไม่มีงานทำ ร่วมทั้งนักศึกษาจบใหม่ โดยรัฐบาลควรจัดอบรมพัฒนาทักษะ หรือว่าจ้างนักศึกษาจบใหม่ช่วยเก็บข้อมูลในพื้นที่และสนับสนุนผู้ประกอบการ ให้จ้างพนักงานแบบรายชั่วโมง โดยกรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงานต้องออกประกาศชั่วคราวเพื่อสนับสนุนให้มีการจ้างรายวัน ไม่อิงค่าแรงขั้นต่ำ หลังพบว่าอุตสาหกรรม 22 สาขา ได้รับผลกระทบมาตั้งแต่ต้นปี และยังไม่กลับมาเป็นปกติ ส่วนอุตสาหกรรมหนักบางประเภทยังพอไปได้ รวมถึงอาชีพที่เกี่ยวกับไอที
นอกจากนี้ ทีดีอาร์ไอ ยังประเมินด้วยว่า เฉพาะเด็กจบใหม่ จำนวนปีละ 300,000 คนนั้น จะมีงานทำเพียง 10% เท่านั้น และยังไม่รวมเด็กจบใหม่ก่อนหน้านี้ที่กำลังรองานอีก 100,000 คน รวมแล้ว 400,000 คน ต้องแย่งงานกัน จึงมองว่ากลางปีหน้าจะหนักกว่านี้มาก และมองไม่เห็นแสงสว่าง หากรัฐบาลไม่รีบเข้าไปแก้ปัญหา
ก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้า โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน (Co – payment) ว่ายังมีตำแหน่งงานเป็นจำนวนมากพร้อมรองรับ จากข้อมูลวันที่ 1 ตุลาคม 2563 – วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 มีนายจ้าง/สถานประกอบการ เข้าร่วมโครงการ 4,414 ราย อัตรา ตำแหน่งที่ประกาศรับสมัคร 82,767 อัตรา แยกตามวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี 43,973 อัตรา ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 10,125 อัตรา ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 8,585 อัตรา มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) 19,993 อัตรา และอนุปริญญา 91 อัตรา
โดยมีผู้จบการศึกษาใหม่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 53,650 คน แยกตามวุฒิการศึกษา ระดับปริญญาตรี 46,044 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) 4,261 คน ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1,177 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) 1,639 คน และอนุปริญญา 529 คน ผ่านการอนุมัติเข้าร่วมโครงการ 2,156 คน
ขณะที่ศ. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม(อว.) กล่าวในการเป็นประธานเปิดงาน โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ว่า เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศที่จะมีคนว่างงานจำนวนมากจากภาวะเศรษฐกิจอ่อนตัวจากสถานการณ์โควิด – 19 โครงการนี้ จะมีการจ้างงาน นิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จำนวน 6 หมื่นคน เพื่อไปทำงานร่วมกับชุมชน จำนวน 3 พันตำบลทั่วประเทศ คนที่ได้รับการจ้างงาน 6 หมื่นคนคือความหวังของครอบครัวและครอบครัวจะดีใจที่ลูกหลานได้งานทำซึ่งจะพอจะช่วยเยียวยาทางเศรษฐกิจของครอบครัวได้ อย่างน้อย 1 ปี และ อว.กำลังทำโครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยจะมีการจ้างงานอีก 4,900 ตำบล ซึ่งนิสิต นักศึกษา บัณฑิตจบใหม่ รวมถึงประชาชน จะได้งานทำถึง 150,000 คน
เราเห็นว่า มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่มีความเหมาะสม และเร่งด่วน จะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างงานได้ แม้จะมีหลายปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ที่ทุบทำลายเศรษฐกิจ และส่งผลต่อการว่างงาน โดยเฉพาะความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่จะเป็นแรงกระแทกให้คนว่างงานเพิ่มขึ้น